“อ.เจษฎา” แจง “แว็กซ์เคลือบแอปเปิ้ล” กินได้ ไม่อันตราย

กรณีที่โลกโซเซียล มีการแชร์ภาพ ชายคนหนึ่งกำลังทดลองเอาผลแอปเปิ้ล ใส่ลงไปในน้ำร้อน แล้วพบว่า ผลแอ็ปเปิ้ลมีแผ่นฟิล์มบางๆติดอยู่บริเวณเปลือกแอปเปิ้ล โดยเมื่อผลแอปเปิ้ลถูกความร้อน สามารถลอกแผ่นฟิล์มดังกล่าวออกมาได้ เป็นที่มาของคำเตือนที่ว่า “ใครที่ชอบกินแอปเปิ้ลโดยไม่ปอกเปลือกให้ระวังเอาไว้ เพราะเท่ากับได้กินแผ่นฟิล์ม ที่พ่อค้า แม่ค้า เอาไปหุ้มเปลือกแอปเปิ้ลเพื่อร่นระยะเวลาให้แอปเปิ้ลคงความสดเอาไว้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง นั้น

เวลาต่อมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสลงเฟชบุ๊ค Jessada Denduangboripant อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “แว็กซ์ที่ใช้เคลือบแอปเปิ้ล มันกินได้ครับ”

โดย รศ.ดร.เจษฎา อธิบายเพิ่มเติมว่า จากคลิปที่มีพ่อหนุ่มคนนี้ เอาแอปเปิ้ลไปจุ่มน้ำร้อน แล้วเห็นแว็กซ์ลอกออกมาเป็นเหมือนเทียนไขขาวๆ ทำเอาหลายคนกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ก็ขอยืนยันตามเดิมว่า แว็กซ์ที่ใช้เคลือบผลไม้อย่างแอปเปิ้ลนี้ ไม่ใช่สารอันตรายอะไร แว็กซ์พวกนี้ (ถ้าคุณภาพไม่ตกมาตรฐาน) กินได้ เป็นเกรดอาหาร food grade ครับ แต่ถ้าใครไม่สบายใจที่จะกินแว็กซ์ จะปอกเปลือกแอปเปิ้ลก่อนกินก็ได้ครับ ตามแต่นิยม”

แวกซ์ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในผักผลไม้ เพราะตามธรรมชาติผักและผลไม้จะสร้างแวกซ์เคลือบผิวหรือเปลือกนอกเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำจากการคายน้ำออกที่ผิว แวกซ์ตามธรรมชาตินี้ทำให้เปลือกแอปเปิล มะนาว หรือพริกหวานมีความมันวาว และทำให้เปลือกองุ่นหรือบลูเบอร์รีดูคล้ายมีแป้งสีขาวๆ เคลือบอยู่ ซึ่งเกิดจากแวกซ์ตามธรรมชาติสัมผัสกับอากาศร้อนหรือความชื้น การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นอย่างเดียวกับการบลูม (Blooming) ในช็อกโกแลตที่เก็บไว้นานๆ เมื่อนำไปล้างถ้ายังมีเคลือบขาวติดอยู่ก็ยังกินได้ อย่างไรก็ตาม แวกซ์ตามธรรมชาติไม่สามารถปกป้องผักผลไม้ที่ต้องขนส่งไปขายยังที่ไกลๆ หรือเก็บรักษาไว้เป็นเวลานานๆ ได้ เพราะแวกซ์ตามธรรมชาติจะถูกชะออกไปกับน้ำในระหว่างขั้นตอนการล้างทำความสะอาดก่อนบรรจุลงกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ เมื่อไม่มีแวกซ์ช่วยป้องกันก็จะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากการคายน้ำออกมาที่ผิวของผักผลไม้ซึ่งยังหายใจอยู่หลังการเก็บเกี่ยว ทำให้เนื้อสัมผัสกระด้างและแห้งเหี่ยวในที่สุด

Advertisement

การเคลือบผิวผักผลไม้ด้วยแวกซ์หรือสารเคลือบผิวจึงเป็นการทดแทนแวกซ์ตามธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการสูญเสียน้ำแล้ว ยังช่วยปกป้องผักผลไม้ไม่ให้เกิดรอยช้ำและความเสียหายอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการกระแทกระหว่างขนส่ง ทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยคงคุณภาพของผักผลไม้ที่นำไปวางขายให้มีลักษณะภายนอกที่สวยงาม คงความสดใหม่ไว้ได้นานและไม่เหี่ยวเร็ว

การเคลือบผิวผักและผลไม้ทำกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในเมืองไทยที่เราคุ้นเคยกันดีคือส้มและแอปเปิล ในต่างประเทศมีการแวกซ์ผักและผลไม้แทบทุกชนิด โดยเฉพาะประเทศในเขตหนาวซึ่งต้องขนส่งผลิตผลทางการเกษตรมาจากแหล่งปลูกที่อยู่ไกลหรือนำเข้าจากประเทศอื่น ผลไม้เคลือบแวกซ์ที่พบเห็นได้บ่อยๆ คือ อะโวคาโด มะนาว เลมอน เมลอน องุ่น กล้วย เสาวรส พีช และสับปะรด รวมถึงพืชผักทั่วๆ ไปอย่างเช่น ฟักทอง มันเทศ พริกหวาน มะเขือเทศ และแตงกวา

แวกซ์จัดเป็นไขมันประเภทหนึ่งที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าไขมันปกติที่เราบริโภคมาก ทำให้ระบบทางเดินอาหารของเราไม่สามารถย่อยได้ แต่จะถูกขับออกจากร่างกายได้ทั้งหมดโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปหรือดูดซึมตกค้าง แวกซ์และสารเคลือบผิวที่ใช้กับผักผลไม้นั้นมีทั้งแวกซ์ธรรมชาติที่ได้จากพืชหรือแมลง เช่น ขี้ผึ้ง เชลแลค แวกซ์จากใบของต้นปาล์มคาร์นาวบา (Carnauba Wax หรือ Brazil Wax) และที่เป็นสารสังเคราะห์จากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งกินได้ แวกซ์และสารเคลือบผิวเหล่านี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ให้เป็นวัตถุเจือปนอาหารประเภท GRAS (Generally Recognizedas Safe) ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัยต่อการบริโภคและสามารถเติมลงในอาหารได้โดยไม่จำกัดปริมาณการใช้ เช่นเดียวกับน้ำส้มสายชู เครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ

Advertisement

ขั้นตอนการแวกซ์หรือเคลือบผิวผักผลไม้นั้น เริ่มจากล้างทำความสะอาดผิวของผักผลไม้ จากนั้นจึงพ่นหรือจุ่มลงในสารเคลือบผิว ซึ่งอาจมีการเติมสารบางชนิดเพื่อช่วยให้สามารถเคลือบเป็นชั้นฟิล์มบางๆ ได้ ในทางปฏิบัตินั้น การแวกซ์ผักผลไม้ใช้สารเคลือบผิวปริมาณน้อยมาก โดยมีข้อมูลว่าแวกซ์เพียงครึ่งกิโลกรัมสามารถใช้เคลือบผิวแอปเปิลได้ถึง 160,000 ผล นั่นหมายความว่าแอปเปิล 1 ผลจะมีแวกซ์เคลือบอยู่เพียง 1-2 หยดเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีข้อควรตระหนักคือ ผักผลไม้ที่จะนำมาเคลือบผิวควรผ่านการทำความสะอาดอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งสกปรกรวมถึงยาฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ต่างๆ ตกค้างอยู่บนผิว เพราะแวกซ์จะเคลือบกักสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เอาไว้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image