ยุทธศาสตร์เจริญพันธุ์ ‘ปั๊มลูกเพื่อชาติ’ อย่างมีคุณภาพ

“ขณะนี้ผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลงและช้าลง และนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาที่สูงขึ้น นิยมการทำงานนอกบ้านมากขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและการงานเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้อัตราการเกิดน้อยลงหรือพูดง่ายๆคือ ปี 2513 ครอบครัวหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ยมากถึง 6 คน แต่ปัจจุบันเหลือในอัตราส่วนเฉลี่ยเพียง 1.6 คนเท่านั้น ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ ภายใน 10 ปี อัตราการเพิ่มของประชากรไทยอาจจะเป็นศูนย์ เพราะเด็กไทยเกิดน้อยลงเรื่อยๆ…” นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงที่มาสำคัญของ “โครงการส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้

หลายคนเกิดคำถามว่า การที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาสนับสนุนการมีลูกเพื่อชาติ จะเหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีปัญหาแม่วัยรุ่นหรือไม่ เรื่องนี้ นพ.วชิระอธิบายว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เราไม่ได้สนับสนุนให้มีลูกไม่พร้อม แต่เราสนับสนุนให้ครอบครัวที่พร้อมจะมีลูก และมีลูกอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2569 ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ซึ่งหัวใจหลักคือ เราส่งเสริมการเกิดด้วยความสมัครใจ เพื่อเพียงพอสำหรับทดแทนประชากร และการเกิดทุกรายต้องมีการวางแผน มีความตั้งใจ และมีความพร้อมในทุกด้าน นำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

“ปัจจุบันจำนวนการเกิดเหลือประมาณ 700,000 คน จากปี 2513 การเกิดพุ่งสูงกว่า 1,300,000 คน ซึ่งนโยบายได้ตั้งเป้าว่า ภายใน 10 ปีจะต้องไม่ลดลงไปกว่านี้ โดยอัตราการเกิดต้องไม่ต่ำกว่า 700,000 คน/ปี หรือครอบครัวหนึ่งที่พร้อมมีบุตร ควรมีลูกอย่างน้อย 1-2 คน” อธิบดีกล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุว่าเพราะเหตุใดสามีภรรยายุคใหม่จึงไม่นิยมมีบุตร ได้คำตอบว่า มีหลายสาเหตุ หลักๆ มาจากไลฟ์สไตล์ของคนไทยเปลี่ยนไป ความเท่าเทียมของชายและหญิง โดยผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น มีการแข่งขันในที่ทำงานสูง กดดัน ภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับคนอยู่เป็นโสดมากขึ้น ไม่อยากมีภาระ เป็นต้น ส่วนปัจจัยด้านรายได้ ค่าเลี้ยงดูต่างๆ นั้น เป็นหนึ่งในสาเหตุ แต่จากการสำรวจพบว่า ไลฟ์สไตล์มีผลมากกว่าเศรษฐสถานะ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้มีลูกนั้น ขอย้ำว่าเป็นไปกับครอบครัวที่มีความพร้อม ซึ่งภาครัฐพร้อมสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ไม่เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจาก สธ.มีการส่งเสริมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์ คลอด และหลังคลอด โดยมีกิจกรรม “เสริมธาตุเหล็ก และโฟลิก หรือวิตามินแสนวิเศษ” ให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-34 ปีทุกคน ที่พร้อมหรือตั้งใจว่าจะมีลูก โดยราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ระบุว่า ช่วงเวลาทองของการมีลูกคือ ช่วงอายุ 24-29 ปี โดยแพทย์แนะนำให้รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ จะช่วยลดภาวะพิการแต่กำเนิดของลูกน้อยลงได้

“วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ จะมีคู่รักมาจดทะเบียนสมรสจำนวนมาก จึงมีการแจกกล่องวิตามินแสนวิเศษ ‘สาวไทยแก้มแดง พัฒนาสมองและการเรียนรู้ด้วยเหล็กและโฟลิก’ พร้อมแผ่นพับความรู้ให้กับคู่รักที่มาจดทะเบียนทั่วประเทศ สำหรับว่าที่คุณพ่อ คุณแม่ที่วางแผนจะมีลูกอยู่แล้ว ก็สามารถไปขอรับวิตามินได้ที่สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งโฟลิกหรือโฟเลต เป็นวิตามิน บี 9 มีประโยชน์ในการป้องกันทารกพิการได้ ขณะที่เหล็กก็ป้องกันเช่นกัน โดยเฉพาะแม่ที่มีภาวะเลือดจางต้องเสริมตัวนี้ด้วย” นพ.วชิระกล่าว

ทั้งนี้ หลายคนสงสัยว่าหากไม่ได้ต้องการตั้งครรภ์จะสามารถรับประทานวิตามินแสนวิเศษนี้ได้หรือไม่ นพ.วชิระกล่าวว่า ได้ โดยเฉพาะในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ช่วงอายุ 20-34 ปี กินได้สัปดาห์ละ 1 เม็ด ส่วนที่เป็นสูตรกินวันละ 1 เม็ดนั้น จะเป็นสูตรโฟเลตหรือโฟลิกอย่างเดียว ทั้งนี้ หากคนที่ไม่มีภาวะโลหิตจางก็ไม่จำเป็นต้องกินสูตรผสมเหล็กก็ได้ ซึ่งตรงนี้สามารถเดินไปให้ทางเภสัชกรร้านยาช่วยเหลือได้ เพราะจะสามารถตรวจวินิจฉัยจากการดูตา ดูผิวแก้มเราว่ามีความซีดหรือไม่ อย่างไร และที่อาจมีคนกังวลว่า การกินวิตามินเหล่านี้มากๆ จะมีอันตรายหรือไม่นั้น จริงๆ ไม่มีผล เพราะขับออกได้ทางปัสสาวะ

Advertisement

นพ.วชิระกล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการสนับสนุนการมีลูกเพื่อชาตินั้น หากเปรียบกับประเทศสิงคโปร์ ไม่ค่อยนิยมมีลูกเช่นกัน ทั้งๆ ที่ฐานะของแต่ละครอบครัวดีกว่าไทย ซึ่งพบว่ามาจากไลฟ์สไตล์ อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยนั้นตามนโยบายชัดเจนว่าจะต้องมีการส่งเสริมการมีลูกเพื่อพร้อม นอกจากเรื่องทางสาธารณสุข การมีลูกอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขสิทธิการลาคลอดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรส ส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร จัดสวัสดิการเรื่องที่อยู่อาศัย เอื้อให้คู่สมรสมีที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน มีความสะดวก เพียงพอต่อการมีบุตร กำหนดมาตรการทางภาษีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตร ขยายจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กคุณภาพเพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระในการดูแลบุตรระหว่างทำงาน และปรับปรุงนโยบายเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น สร้างสมดุลการทำงานและชีวิตครอบครัว เป็นต้น

“ที่ผ่านมาก็เริ่มมีการดำเนินการแล้ว อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนโยบาย ครอบครัวไหนมีลูก ภาครัฐมอบเงินครอบครัวละ 600 บาท หรือเรื่องลางาน ปัจจุบันแม่ให้ลาคลอดได้ 3 เดือน ซึ่งช่วงนี้ยังให้เงินเดือนและยังสามารถลาได้อีก 150 วันทำการโดยไม่ได้รับเงินเดือน และสามีสามารถขอลาช่วยเลี้ยงลูกได้ถึง 15 วัน เป็นต้น ส่วนอื่นๆ ก็จะมีการปรับปรุงสิทธิสวัสดิการต่างๆ ต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้าย

ถ้าครอบครัวไหนพร้อม น่าลองสนองนโยบายปั๊มลูกเพื่อชาตินี้น่าจะดี…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image