เปิดร่างประกาศสธ. เอาช่อ “กัญชา” กลับคืนยาเสพติด รับฟังความเห็น 11-25 มิ.ย.นี้

เปิดร่างประกาศสธ. เอาช่อ “กัญชา” กลับคืนยาเสพติด รับฟังความเห็น 11-25 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน เว็บไซต์ LAW ระบบกลางทางกฎหมาย ได้เผยแพร่ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … นำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นประเด็นการนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด โดยเปิดรับฟังความเห็นระหว่างวันที่ 11-25 มิ.ย.2567

สำหรับรายละเอียดของร่างประกาศดังกล่าว พบว่า มีการกำหนดกัญชา กัญชง พืชฝิ่น เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยในส่วนของกัญชา กำหนดรายละเอียดไว้ว่า

กัญชา (cannabis) พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ADVERTISMENT

(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก

(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย

ADVERTISMENT

(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(ง) เมล็ดกัญชา

กัญชง (hemp) พืชซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. subsp. sativa อันเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา (Cannabis sativa L.) และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก

(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย

(ค) สารสกัดที่มีสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

(ง) เมล็ดกัญชง

นอกจากนี้ ยังระบุถึงกรณีที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 เป็นต้นไป

สำหรับก่อนหน้านี้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 ซึ่งกำหนดชื่อยาเสพติดมีเพียง พืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย และสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ในสกุล Cannabis ยกเว้นสารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ และสารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชงที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image