เยาวชนต้านกัญชาเสรี มึน ร่างประกาศสธ. คุม “ช่อดอก” แต่ปล่อย “เมล็ด” แนะ ทางที่ดีต้องล็อกทั้งหมด หวังรับฟังความเห็นถึง 25 มิ.ย. แล้วเสร็จ ต้องปรับแก้ใหม่
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายยศกร ขุนภักดี เครือข่ายเยาวชนไม่นะกัญชาและยาเสพติด (YNAC) ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. ว่า ขณะนี้ร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้เปิดรับฟังความเห็นมาแล้ว 5 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งขณะนี้มีคนเข้าไปให้ความเห็นแล้วเป็นหมื่นคน โดยทางกลุ่ม YNAC ก็ได้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเข้าไปให้ความเห็นว่ากัญชาควรนำกลับไปเป็นยาเสพติดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร่างประกาศฯ ดังกล่าว ก็มีข้อน่าสังเกตที่หลายคนได้ตั้งคำถามคือ แม้ว่าในร่างประกาศฯ จะระบุว่าช่อดอกกัญชา เป็นยาเสพติด แต่กลับระบุว่า เมล็ดกัญชา ไม่เป็นยาเสพติด ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็ควรจะต้องนำเมล็ดกลับไปเป็นยาเสพติดด้วย ซึ่งตนก็ไม่ทราบถึงวัตถุประสงค์ที่มีการเปิดช่องนี้ไว้ แต่เชื่อว่ามีหลายคนได้ให้ข้อสังเกตนี้ไปในการตอบคำถามข้อที่ 8 ที่ระบุว่า “เห็นด้วยกับร่างประกาศเป็นส่วนใหญ่/มีข้อแก้ไข/เพิ่มเติมบางส่วน” ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็คงรับความเห็นไปแล้วไปปรับแก้ในร่างประกาศฯ อีกครั้ง
“การที่กระทรวงฯ ได้ออกร่างประกาศฯ ดังกล่าวมา ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่มีการจัดการกับกัญชา ให้กลับไปเป็นยาเสพติด แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรเอาเมล็ดกัญชากลับไปด้วย ถ้าทำแล้วก็ทำให้หมดจด” นายยศกร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทม์ไลน์ของกฎหมายควบคุมกัญชาในประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีการปลดล็อกเพื่อใช้ทางการแพทย์ ให้สามารถขออนุญาตใช้กัญชาที่เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 เพื่อการรักษา ศึกษาหรือวิจัยได้ แต่ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถครอบครองกัญชาได้ กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2563 ซึ่งในขณะนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามใน “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563” ปลดล็อกส่วนต่างๆ ของกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก, ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย, สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก, กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ขณะที่ ช่อดอกกัญชาและกัญชง, เมล็ดกัญชา, ยาง, สารสกัดที่มีค่า THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และน้ำมันจากเมล็ดกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้เหตุผลว่า เป็นไปตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
แต่ล่าสุดใน (ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. …. มีการปลดล็อกให้ส่วนต่างๆ ของกัญชาไม่เป็นยาเสพติด รวมถึงเมล็ดกัญชาด้วย จะเหลือเพียงช่อดอกกัญชาและกัญชง, ยาง, สารสกัดที่มีค่า THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ที่ถูกกำหนดเป็นยาเสพติด