สบส.เผยมะเร็งตับดับชีวิตชาวกทม.สูงสุด รองลงมาโคราช-เชียงใหม่ กลุ่มแรงงาน-ผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส.) กล่าวว่า จากการประเมินปัญหาสุขภาพประชาชนไทยทั่วประเทศ พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตก ข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานล่าสุดในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากเป็นอันดับ 1 ทั่วประเทศ 70,075 คน เฉลี่ยตำบลละ 10 คน สูงกว่าปี 2554-2556 ที่มีประมาณ 60,000 กว่าคน เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นวัยแรงงานและสูงอายุ โดยกทม.มีผู้เสียชีวิตสูงอันดับ1 จำนวน 9,474 คน รองลงมาคือ นครราชสีมา 2,615 คน เชียงใหม่ 2,052 คน ขอนแก่น 2,028 คน และร้อยเอ็ด 1,991 คน ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่ตับ ท่อน้ำดี ปอด หลอดลม หลอดคอ เต้านม ปากมดลูก

ทั้งนี้ สาเหตุการป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง หลักๆเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความเครียด กินอาหารจำพวกไขมัน กินอาหารปนเปื้อนสารอันตราย เช่น ฟอร์มาลิน สารฟอกขาว สารกันรา ยาฆ่าแมลงตกค้างในผักผลไม้ เป็นต้น การออกกำลังกายน้อย และความอ้วน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงให้คนที่ไม่ได้สูบเป็นมะเร็งด้วย

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ในการป้องกันและลดการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง กรมสบส. ในฐานะเป็นองค์กรหลักในการสร้างระบบสุขภาพภาคประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนร่วมแก้ไขพัฒนาสุขภาพร่วมกับภาครัฐ ในปี 2559 นี้ได้เร่งดำเนินการพัฒนาตำบลที่มีประมาณ 7,255 ตำบล ให้เป็นตำบลจัดการสุขภาพแบบบูรณาการ ตั้งเป้าให้เกิดตำบลต้นแบบ 1,000 ตำบล และจัดอบรมพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ทั่วประเทศ 52,236 คน ให้เป็นนักจัดการสุขภาพตามกลุ่มวัยต่างๆตั้งแต่เด็กจนถึงวัยสูงอายุ โดยทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในชุมชน เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยปกครองท้องที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค คุ้มครองผู้บริโภคในหมู่บ้าน เช่น ตรวจหาสารอันตรายในอาหาร ส่งเสริมชาวบ้านใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี และร่วมจัดทำแผนสุขภาพของตำบลด้วย

“ขณะนี้ตำบลส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 มีการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ โดยมีเกือบ 3,000 ตำบล ที่มีระบบการบริหารจัดการต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ กรมสบส.ได้จัดทำระบบติดตามประเมินคุณภาพของอสม.ในภาคปฏิบัติจริงหลังผ่านการอบรมจำนวน 10 ด้าน เช่น ความสามารถพัฒนาพฤติกรรมตัวเอง การสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วม ถ่ายทอดความรู้ การสำรวจข้อมูลสุขภาพในหมู่บ้าน การกำหนดมาตรการแก้ปัญหาชุมชน การประเมินความสำเร็จแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ” อธิบดีสบส.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image