‘บึงกาฬ’เปิดยุทธศาสตร์เร่งรัด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ‘พ่อเมือง’ลั่น’ไปได้อีกไกล’

ถึงวันนี้ “บึงกาฬ” ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเกือบจะครบ 6 ปีแล้ว ในฐานะจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา บึงกาฬแสดงศักยภาพของจังหวัด ที่แม้เป็นจังหวัดน้องใหม่ แต่มีพัฒนาการที่ไม่ธรรมดา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับจังหวัดใหม่ที่จะสร้างการยอมรับ หรือสร้างการรับรู้ขึ้นในสังคม แต่บึงกาฬทำได้ เพราะมีการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

พูดให้เฉพาะเจาะจงลงไปหน่อย คือ ในระดับผู้นำ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีความเอาจริงเอาจัง ตั้งใจร่วมมือกันอย่างเต็มความสามารถในการผลักดัน และยกระดับศักยภาพของจังหวัด ให้สายตาคนทั้งประเทศเห็น นอกจากผู้นำในท้องถิ่นเอาจริงเอาจัง ภาพการเติบโตเข้มแข็ง อันเป็นจุดเด่นที่เห็นในวันนี้ จะเกิดขึ้นมิได้ หากขาดฐานรากที่แข็งแรง นั่นคือ ประชาชนที่มีความเข้าใจตรงกัน รักในบ้านเกิด และร่วมคิดร่วมสร้างกับภาครัฐ เป็นพลังของประชาชนในพื้นที่ ที่พร้อมใจกันประกาศศักยภาพของจังหวัด จนกลายเป็นโมเดลการพัฒนาที่รัฐบาลใช้ยกเป็นตัวอย่างกับสังคมที่คุ้นหูกันว่า “บึงกาฬโมเดล” ที่ประชาชน เอกชน ประชาสังคม และภาครัฐจับมือกันทำสิ่งสร้างสรรค์ ให้เห็นเป็นรูปธรรม

ว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศแล้วนั้น บึงกาฬมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงตรงข้ามเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว โดยพื้นที่ประมาณร้อยละ 90 ทำการเกษตร มีการปลูกผักต่างๆ ตามพื้นที่แนวชายโขง และทำนา ทำไร่ รวมถึงพืชเศรษฐกิจที่สร้างชื่อให้จังหวัดบึงกาฬคือยางพารา โดยแต่ละปีมีผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

บึงกาฬมีพรมแดนติดเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนทอดแนวยาวกว่า 120 กิโลเมตร ประชาชนทั้งสองฝั่งเดินทางไปมาเพื่อค้าขายและท่องเที่ยวอยู่เป็นประจำ ยังมีเส้นทางเชื่อมไปยังเมืองวินห์ จ.เงอาน ประเทศเวียดนาม ระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร

Advertisement

 

มาดูตัวเลขทางเศรษฐกิจนิดหน่อย… มูลค่าการค้าชายแดนจังหวัดบึงกาฬเมื่อปี 2559 มีมูลค่าการค้ารวม 3,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 กว่า 400 ล้าน โดยสินค้าส่งออกไปลาวที่สำคัญ อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำมันดีเซล รถยนต์นั่งกระบะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ พลังงานไฟฟ้า ไม้แปรรูป เป็นต้น เรื่องนี้ นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวยอมรับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับจังหวัดข้างเคียงอย่าง หนองคาย นครพนม หรือมุกดาหาร

ทั้งนี้ ในโลกของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนสินค้าจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบการขนส่งสินค้าและบริการให้สะดวก รวดเร็วขึ้น จึงต้องมีการปรับปรุงและการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคตและเศรษฐกิจของท้องถิ่น

โดยการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนในยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยมี 4 โครงการเด่น ที่เป็นการวางพื้นฐานสำหรับการพัฒนาที่มีความพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาเครือข่ายถนนหลวง การสร้างสนามบินประจำจังหวัด การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมประเทศลาว และการเตรียมพร้อมสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษในฐานะเมืองพรมแดน

IMG_4839

การเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำโขงในเมืองชายแดน เป็นเครื่องการันตีการเพิ่มความสามารถในการแลกเปลี่ยนสินค้า นั่นหมายความว่ายอดส่งออกนำเข้าสินค้าก็จะเพิ่มมากขึ้น การไปมาหาสู่ระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดบึงกาฬมีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วงเงิน 54 ล้านบาทแล้ว

สะพานแห่งนี้ ช่วยเพิ่มการแลกเปลี่ยนสินค้า การเดินทางท่องเที่ยว ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน ระหว่าง จ.บึงกาฬ ไปยังแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ต่อเนื่องไปยังประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้ โดยการก่อสร้างจะใช้เส้นทางหมายเลข 8 แยกจากเส้นทางหมายเลข 13 เชื่อมต่อจากไทยเข้าสู่ สปป.ลาว ที่บ้านเวียง เมืองปากกระดิ่ง แขวงบอลิคำไซ ผ่านหลักซาว ไปทางตะวันออกของ สปป.ลาว สู่เวียดนาม และเชื่อมเส้นทางหมายเลข 1 ของเวียดนามที่มุ่งหน้าสู่เมืองวินห์ ถึงท่าเรือหวุ่งอ่าง เมืองฮาติน์ รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร ซึ่งการก่อสร้างสะพานที่ 5 มีวงเงินก่อสร้างประมาณ 3,400 ล้านบาท เมื่อสำเร็จลงจะเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่เชื่อมภูมิภาคอาเซียนกับจีนได้เป็นอย่างดี

จังหวัดบึงกาฬถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เพราะเป็นเมืองชายแดนติดกับลาว สามารถเดินทางไปต่อเวียดนามได้ ในอนาคตหากเชื่อมโยงเรื่องการเดินทางที่เป็นระบบน่าจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจได้ดี โดยจังหวัดบึงกาฬกำลังมีโครงการก่อสร้าง “ท่าอากาศยานบึงกาฬ” ซึ่งขณะนี้ได้ทำการศึกษาความเหมาะสม

เบื้องต้น สถานที่ดำเนินการก่อสร้างสนามบินตั้งอยู่ที่บ้านดอนปอ ต.หนองแข็ง อ.เมือง ระยะห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 ตอนหนองคาย-บึงกาฬ โดยได้มีการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬจากกรมการบินพลเรือนอีกด้วย

IMG_4840

นอกจากสนามบินแล้ว อีกหนึ่งโครงการสำคัญในอนาคต คือ การพัฒนาถนนหนทาง โดยเฉพาะโครงข่ายทางหลวง เพราะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับการไปมาหาสู่ โดยเฉพาะเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำโขง และสนามบิน ก็จำเป็นต้องมีเครือข่ายถนนรองรับนั่นเอง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ “โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงอาเซียน (บึงกาฬ-หนองคาย)”  ถือเป็นโครงการใหญ่ที่สำคัญมากอีกหนึ่งโครงการ การสัญจรรวมถึงการขนส่งสินค้าที่ต้องผ่านสายบึงกาฬ-หนองคาย อันเป็นทางหลักที่มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานครนั้น แม้เริ่มมีการพัฒนาอย่างมาก จนกลายเป็นถนน 4 เลนอย่างดี ทั้งยังติดไฟส่องสว่างจำนวนมากจนการเดินทางมาบึงกาฬใช้เวลาเดินทางสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่บางช่วงถนนยังมีเพียง 2 ช่องจราจร ทำให้ไม่สะดวกปลอดภัย โดยเฉพาะในการขนส่งสินค้า จึงจำเป็นต้องขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรทั้งหมด

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ยืนยันว่าต้องเกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดบึงกาฬ และคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีมติเห็นชอบเสนอพื้นที่ 2 แปลง คือ 1.บริเวณบ้านโนนสว่าง ต.โนนสว่าง อ.เมืองบึงกาฬ พื้นที่ 1,707.75 ไร่ และ 2.บริเวณบ้านห้วยดอกไม้ ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ พื้นที่ 989.46 ไร่ เตรียมรองรับการเกิดขึ้นของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ที่เป็นพื้นที่สำหรับการระดมการลงทุนของเอกชนที่สนใจ และมองเห็นโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจ เข้ามาลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ และกระจายเม็ดเงินลงสู่ชุมชนพื้นที่ต่อไป

4

นายพิสุทธิ์ย้ำถึงการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดว่า บึงกาฬถือเป็นจังหวัดพื้นที่ชายแดน โดยจังหวัดหนองคาย นครพนม หรือมุกดาหาร ต่างมีสะพานกันแล้ว ขณะที่จังหวัดบึงกาฬยังอยู่ในเป้าหมาย โดยขณะนี้เป็นขั้นตอนของการออกแบบ ประเมินงบประมาณการก่อสร้าง รวมถึงเตรียมสภาพพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การเวนคืนที่ดินที่ดำเนินการแล้วบางส่วน แต่งบประมาณบางส่วนถูกตัดไป เพราะความพร้อมในการก่อสร้างสะพานต้องเป็นความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย หากสะพานเกิดขึ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษจะเกิดขึ้นตามมา ความเจริญ การค้า การลงทุน โรงงานตามมาตรฐานขนาดใหญ่จะตามมาอีก

นายพิสุทธิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อมีเมืองต้องมีโครงสร้างต่างๆ รองรับ ทั้งถนนหนทางต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การเป็น Rubber City ส่วนการสร้างสะพานขณะนี้เหลือในส่วนการรอการเตรียมความพร้อมจากฝั่งลาว โดยแบบสะพานมีความพร้อม ซึ่งจังหวัดของบประมาณก่อสร้างโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ระบบขนส่งต่างๆ ปีนี้ได้งบประมาณมากว่า 800 ล้านบาท สำหรับงบปี 2560 เพิ่มเติม ขณะที่ปี 2561 ซึ่งเพิ่งมีการประชุมไป มีการของบประมาณอีกกว่า 2,200 ล้าน เพื่อสร้างถนนรองรับสะพานที่จะเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ บึงกาฬยังมีแหล่งท่องเที่ยวระบบนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจอย่างมาก ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางลงไปในพื้นที่ท่องเที่ยวให้มีความสะดวก บึงกาฬมีแหล่งท่องเที่ยวที่คนยังไม่รู้จัก

“เรามีบึงโขงหลงที่มีระบบนิเวศที่เป็นที่อาศัยของนกประจำถิ่นและนกอพยพมากกว่า 134 ชนิด นอกจากนี้ ยังมีบัวแดงพื้นที่กว่าพันไร่ และมีบัวหลวงอีก 800 ไร่ ใกล้เคียงกันสามารถไปเยี่ยมชมได้ สัตว์น้ำก็มีความหลากหลาย ธรรมชาติสวย แต่ยังไม่ค่อยมีคนรู้ เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับความชื่นชอบ นอกจากนี้ จังหวัดยังจะมีการพัฒนาพื้นที่ชายโขงให้เป็นพื้นที่พักผ่อนท่องเที่ยวสำคัญอีกด้วย” ผู้ว่าฯระบุ

ด้านความเห็นจากฝั่งลาวเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับไทยนั้น “ดร.คำปาว มัว” รองเจ้าแขวง แขวงเชียงขวาง สปป.ลาว ระบุว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังน้อย ปัจจุบันเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยในอนาคตหากมีการพัฒนาเส้นทางที่ดีขึ้น จากบึงกาฬ บอลิคำไซ เชียงขวาง ก็คาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการท่องเที่ยว โดยในส่วนเส้นทางสายปากซันไปเชียงขวางก็กำลังมีการปรับปรุง ระยะทางประมาณ 28-30 กิโลเมตร ในขณะนี้ โดยหากมีการสร้างสะพานข้ามจากปากซันมาบึงกาฬในอนาคต ก็จะทำให้การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น

“ในทศวรรษ 2530 เราคงเคยได้ยินคำขวัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ปัจจุบันการเปลี่ยนนั้นสำเร็จไปนานแล้ว ในสงครามการค้านั้น ความเร็วคือความได้เปรียบ ความช้า คือ การสูญเสียต้นทุน หวังว่าบึงกาฬจะได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เสียโอกาสการแข่งขัน โดยเฉพาะในยุคโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างยิ่งยวดเช่นนี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image