จ่อเสนอครม. ‘พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน’ฉบับใหม่ เพิ่มสิทธิลูกจ้างได้’เงินชดเชย’

นายสุเมธ มโหสถ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวภายหลังเปิดโครงการสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ…. ว่า ที่ผ่านมากรมได้มีการหารือร่วมกับหลายภาคส่วนจนจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ…. ขึ้น ซึ่งปรับปรุงมาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการจึงได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นขึ้นว่าจะมีการปรับเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องมีการรวบรวมทั้งหมดและเสนอต่อ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่ากระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 60 วัน จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนประกาศใช้ ซึ่งลูกจ้าง แรงงานทุกคนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น

นายสุเมธกล่าวอีกว่า จริงๆ ตัวร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการลาคลอดของแรงงานหญิง ซึ่งกำหนดให้มีสิทธิลาคลอด 90 วัน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการลาหลังคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งกฎหมายใหม่จะกำหนดให้มีสิทธิลาคลอดได้ตั้งแต่ก่อนคลอด คือ ลาเพื่อไปตรวจครรภ์ ตรวจสุขภาพก่อนคลอด เป็นต้น และนายจ้างจะต้องให้ค่าจ้าง นอกจากนี้ ที่มีการเพิ่มเติมอีกคือ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการ หรือย้ายลูกจ้างไปยังสาขาอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของลูกจ้าง เช่น เดิมอยู่สาขาใหญ่ที่ กทม. แต่ถูกย้ายไป จ.สระบุรี หากเป็นกฎหมายเดิมจะไม่มีการชดเชยใดๆ หากลูกจ้างไม่สะดวกและขอลาออก แต่ร่างกฎหมายใหม่ให้สิทธิลูกจ้างที่ไม่สะดวก หาหลักฐานข้อเท็จจริงความจำเป็นต่างๆ และไปยื่นร้องขอค่าชดเชยพิเศษได้

นายสุเมธกล่าวว่า สำหรับค่าชดเชยพิเศษจะได้รับตามมาตรา 118 คือ หากลูกจ้างทำงาน 120 วันขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างจำนวน 30 วัน หากทำงาน 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน หากทำงาน 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 6 ปีจะได้รับเงิน 180 วัน และหากทำงานเกิน 10 ปีขึ้นไปจะได้รับไม่เกิน 300 วัน แต่ล่าสุดได้เพิ่มกรณีลูกจ้างทำงานเกิน 20 ปีขึ้นไป จะได้รับชดเชย 400 วัน เทียบเท่ากับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดนั่นเอง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.นี้ยังมีมาตราอื่นๆ อีก อาทิ ให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจไม่น้อยกว่าปีละ 3 วัน ซึ่งลากิจจะเป็นการลาตามความจำเป็น โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายจ้าง อาทิ พ่อแม่ป่วย หรือลาไปทำธุรกรรม หรือทำบัตรต่างๆ ที่ต้องเป็นตัวบุคคลไปยืนยัน เป็นต้น

“ล่าสุด พล.อ.ศิริชัยยังมอบหมายให้กรมสวัสดิการฯไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีกว่า 20 ล้านคนให้ได้รับการดูแลจากภาครัฐด้วย จากเดิมจะดูแลเพียงผู้รับงานมาทำที่บ้าน และภาคการเกษตร แต่ครั้งนี้ให้รวมทุกกลุ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาในการแยกกลุ่มอาชีพ จะมีทั้งผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้รับใช้ในบ้าน ซึ่งให้การดูแลทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล อุบัติเหตุจากการทำงาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำร่างกฎหมายแรงงานนอกระบบต่อไป” อธิบดีกล่าว และว่า ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการจ้างแรงงานเด็ก โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเด็กที่มีการเพิ่มโทษหากพบว่ามีการจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย โดยเดิมโทษปรับเริ่มต้นที่ 200,000 บาทต่อการจ้างแรงงานเด็กผิดกฎหมาย 1 คน ซึ่งเพิ่มเป็นมีโทษปรับ 400,000-800,000 บาท/คน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image