เครือข่ายแรงงานฯเล็งพบ ‘สปสช.’ หวังแลกเปลี่ยนสิทธิตรวจสุขภาพเหมือนหรือต่าง ‘ประกันสังคม’

กราฟิกมติชน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นายมนัส โกศลประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า หลังจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 นั้น ทางเครือข่ายฯเห็นว่าควรมีการเพิ่มเติมในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นอกเหนือจากตรวจสุขภาพฟรี ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 63(2) พ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558ล่าสุดทางคปค.จึงได้ประชุมหารือกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ ในการพิจารณาว่าควรเพิ่มเติมเรื่องใด เพื่อนำเสนอต่อสปส.ต่อไป

“เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า ควรมีการเพิ่มการตรวจช่องปากประจำปี นอกเหนือจากการให้สิทธิค่าบริการ ทันตกรรม 900 บาทต่อปี รวมทั้งให้สิทธิการตรวจครรภ์ ฝากครรภ์ แก่ผู้ประกันตนหญิงด้วย ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับคู่มือสิทธิการตรวจสุขภาพนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการเสนออย่างไรเพิ่มเติม โดยทางเครือข่ายฯจะขอเข้าพบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อขอแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า สิทธิการตรวจสุขภาพของผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองเป็นอย่างไร” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในวันที่22 กุมภาพันธ์ ทางเครือข่ายฯ ได้ขอเข้าพบปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดสปส. เพื่อขอขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมต่อการทำงานของ สปส. โดยเฉพาะเรื่องทันตกรรม และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการเบิกจ่ายตรงด้านค่ารักษาทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งถือว่าเดินมาถูกทาง และขอให้ในอนาคตมีการพัฒนาด้านทันตกรรมสำหรับผู้ประกันตนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยให้ไปอยู่ในระบบการตรวจสุขภาพฟรีตามมาตรา 63(2)

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนอกจากเรื่องทันตกรรมแล้ว ข้อเรียกร้องมาตรา 63(7) เรื่องการออกกฎหมายลูกการเยียวยาเบื้องต้นผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ นายมนัส กล่าวว่า เครือข่ายฯยังคงติดตามเรื่องนี้ เบื้องต้นทางสปส.ระบุว่า อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เนื่องจากยังมีประเด็นที่อาจซ้ำซ้อน อย่าง สปสช.มีมาตรา 41ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 การเยียวยา โดยมีทั้งการพิการ และเสียชีวิต ซึ่งส่วนนี้มีกฎหมายเยียวยาผู้ทุพพลภาพในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงาน หรือจากการรับบริการ ดังนั้น ต้องให้เกิดความชัดเจนก่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image