กทม.ของบฯ 2.3 หมื่นล้าน ผุด ‘อุโมงค์-สะพาน-ถนน’ แก้รถติด

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรของ กทม. ระยะที่ 1 ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ กทม.ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรของ กทม.เป็น 4 แนวทาง ได้แก่ 1.ด้านวิศวกรรมจราจร 2.การบริหารจัดการจราจร 3.ระบบการขนส่งสาธารณะและระบบเชื่อมต่อ 4.อาคารและสถานที่จอดรถ โดยการศึกษาในระยะที่ 1 ได้ศึกษาด้านวิศวกรรมจราจร และสรุปแผนแก้ไขปัญหาจราจรเร่งด่วนระยะที่ 1 จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 23,590 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องของบประมาณสนุบสนุนจากรัฐบาลทั้งหมด

พล.ต.ต.ประสพโชค กล่าวว่า สำหรับโครงการประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์ และถนนท่าดินแดง 2.โครงการก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย 3.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ถนนสุนทรโกษา 4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดถนนรัชดาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์ 5.โครงการปรับปรุงถนนเพชรเกษมตั้งแต่ซอยเพชรเกษม 69 จนสุดเขตกรุงเทพฯ 6.โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนสามวา 7.โครงการก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างถนนรามคำแหง 8.โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง และ 9.โครงการก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช

“ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ นับเป็นวาระแห่งชาติ หากคิดเป็นค่าเสียหาย ตกปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งค่าเสียหายจากการสึกหรอของเครื่องยนต์ มลพิษทางอากาศ ค่าเสียโอกาสในการทำงาน วิถีชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ หลักคิดด้านวิศวกรรมจราจรคือ การเร่งระบายรถให้ออกสู่พื้นที่รอบนอกและปริมณฑลให้เร็วที่สุด เพื่อความคล่องตัวของรถในพื้นที่กรุงเทพ” พล.ต.ต.ประสพโชค กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image