‘…เป็นวัสดุชำรุดที่เจ้าของท่านทิ้งแล้ว’ มอง ‘วิชชาธรรมกาย’ จากสายตา ‘เสฐียรพงษ์ วรรณปก’

ยังคงเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีของ ‘วัดพระธรรมกาย’ โดยหลังจากมีการประกาศใช้มาตรา 44 เพื่ออำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นวัดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ก่อนภายหลังจะประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่วัดจนนำไปสู่เหตุการณ์ความวุ่นวาย แถมยังมีทีท่าจะยืดเยื้อ เพราะการเจรจาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ก็ล้มไม่เป็นท่า

อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ในช่วงระยะเวลานี้ที่คนให้ความสนใจกับ ‘วัดพระธรรมกาย’ เพราะตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา สังคมสนใจกับการกำเนิดและดำรงอยู่ของวัดนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยไม่ใช่แค่ศาสนสถานอลังการ แต่รวมถึงคำสอนที่หลวงพ่อสด (พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นผู้ค้นพบ ซึ่งกล่าวว่าเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าที่เคยถูกปกปิดเป็นความลับ ต่อเมื่อภายหลังปรินิพพานในอีก 500 ปี จึงได้มีการรื้อฟื้น “วิชชาธรรมกาย” อีกครั้ง

สำหรับประเด็นนี้ เสฐียรพงษ์ วรรณปก  ราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทปรัชญา สาขาศาสนศาสตร์ เคยชี้แจงไว้ในหนังสือ ‘บทเรียนชาวพุทธจากกรณีธรรมกาย’ ของสำนักพิมพ์มติชน ในตอน ‘ต้นธาตุ ต้นธรรม’ ว่า…

“พูดกันมากว่า ธรรมกายของหลวงพ่อสดนั้น แรกๆ ท่านเองก็นึกว่าเป็นของแท้ แต่พอปฏิบัติไปๆ ก็ “ติดตัน” ไม่ก้าวหน้า ท่านจึงไปปรึกษาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น  เป็นใครก็ทราบกันอยู่ แต่ยุทธจักรไม่บอกกัน รู้กันภายใน

Advertisement

หลังจากท่านได้ช่วยสอบอารมณ์ ช่วยแก้ไขให้สักระยะหนึ่ง หลวงพ่อสดก็ “ผ่าทางตัน” นี้ไปได้ และได้เขียนทำนองประกาศความจริงข้อนี้ไว้ให้อาจารย์วิปัสสนารูปนั้นใต้รูปถ่ายของท่านที่มอบถวายไว้ด้วย

เมื่อถูกถามว่า เมื่อรู้ว่าธรรมกายของท่านนั้นไม่ใช่ของแท้ แล้วทำไมจึงไม่บอกให้ศิษย์ทั้งหลายทราบ หลวงพ่อก็ตอบว่าคนเขาเชื่อกันมากแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ธรรมกายนั้นเป็นวัสดุชำรุดที่เจ้าของท่านทิ้งแล้ว เพราะเจ้าของท่านได้อาศัยแนวทางแห่งวิปัสสนาก้าวไปถึงไหนๆ  แล้ว

Advertisement

แต่ลูกศิษย์หลานศิษย์ก็ยัง “กอด” มรดกอันชำรุดนั้นไว้อย่างเหนียวแน่น เพียงแค่กอดไว้ตามเดิมก็พอทำเนา หลานศิษย์ เหลนศิษย์บางคนเอามาเป็นเครื่องมือขายกิน สร้างความร่ำรวยให้แก่ตนจนน่าตกใจ นี่สิครับน่าตำหนิ

โดยได้สร้างแนวคิดใหม่ๆ ออกมา จนถ้าหลวงพ่อสดยังมีชีวิตอยู่จนถึงบัดนี้ ท่านคงถามหายาแก้ปวดศีรษะมาฉันแล้วครับ

เอาการเห็นนิมิตคือพระพุทธรูปนั้นเป็นจุดขาย เมื่อนำให้ผู้ปฏิบัติภาวนาสัมมาอะระหังๆ จนกระทั่งเกิดนิมิตเห็นพระพุทธรูป แล้วก็บอกว่า”คุณได้บรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว” คนที่ไม่เคยได้ พอได้เข้าก็เกิดศรัทธาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เท่าไรเท่ากัน มีหมื่นถวายหมื่น มีแสนถวายแสน เพราะเชื่อมั่นว่าตนได้บรรลุธรรมแล้ว

จากจุดนี้เองก็มาคิดต่อตามประสาผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านการตลาดว่า บุญเป็นสินค้าที่ขายได้ และขายได้ง่ายด้วย

โครงการขายบุญหลากหลายรูปแบบจึงเกิดขึ้น เมคมันนี่กันอย่างสะบึม พระภิกษุผู้ที่พระวินัยกำหนดว่าให้มีชีวิตอยู่ง่ายๆ ก็กลายเป็นพระอาเสี่ย อยู่ยากกินยาก คือกินอาหารธรรมดาไม่เป็น  ต้องสังจากเหลาอย่างดีมากิน จีวรก็สั่งผ้าอย่างดีจากต่างประเทศ เอาชนิดที่ห่มแล้วสะท้อนแสง ผิวยังไม่ผ่องเท่าที่ควรก็ไปอบผิวด้วยสมุนไพร ให้คนเข้าใจว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ รัศมีผุดผ่องดังทองทา

แค่นั้นยังไม่พอ ยังบอกสานุศิษย์ว่าตนเป็น “ต้นธาตุ ต้นธรรม” ความหมายก็คือพยายามสร้างภาพให้ตัวเองขลังศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ เริ่มแต่ให้พบยาก จะพบได้เฉพาะผู้ที่มีบารมีสูง และผู้ที่ “หลวงพ่อ” เลือกแล้ว นานๆ เข้าก็ถึงกับให้เข้าใจกันนัยๆ ว่า “หลวงพ่อ” ของพวกเขาเป็น “ที่มา” ของผู้ตรัสรู้ทั้งปวง หรือใหญ่กว่า “พุทธะ” ทั้งปวง

หลวงพ่อสดหรือ ยังน้อยไป พระพุทธเจ้าทั้งปวงก็เล็กกว่า “หลวงพ่อ” ของพวกเขา

แรกๆ ผมฟังผู้มาเล่าให้ฟังถึงเรื่องนี้ ผมก็ไม่เชื่อและไม่คิดว่าจะอาจเอื้อมถึงขั้นนี้ แต่พอได้อ่านข้อเขียนของท่านเมตตา นันโท (พระมโน) ท่านยืนยันว่า มีการพูดกันอย่างนี้และเชื่อกันอย่างนี้จริง ก็ร้องได้คำเดียวว่า ถ้าจริงตามนี้ก็อุบาทว์แท้ ไม่จริงก็แล้วไป

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ คือไม่น่ามีคนเชื่อ ก็กลับมีคนเชื่อถือกันทั่วไป คือการบอกว่าบางคนที่บารมีถึงแล้วที่ “หลวงพ่อเลือกแล้ว” ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิภาวนาให้เมื่อย เพียงหลวงพ่อพาขึ้นไปบนดอยทำพิธี “อัด” ธรรมกายให้ก็ได้บรรลุธรรมแล้ว

จะมีผู้หลวงเชื่อจำนวนปีละไม่น้อยที่ตามขึ้นไปให้หลวงพ่อเธออัดให้ หลายท่านถามด้วยความสงสัยว่า อัดอะไรกันแน่หนอจึงง่ายปานนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนเราจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรต้องทำเอาเอง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของจำเพาะตน คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้

ก็เพิ่งมาได้ยินที่สำนักนี้แหละ  มรรคผลนิพพานหยิบยื่นให้กันได้ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องทำเอง อัญเชิญท่านผู้เป็นต้นธาตุ ต้นธรรมมาอัดให้ เดี๋ยวเดียวก็ได้เป็นพระโสดา สกทาคา อนาคา และอรหันต์แล้ว

ง่ายอะไรปานนั้น

แค่การบรรลุธรรมคือการทำตนให้เป็นพระพุทธรูปหน้าตักกว้างเท่านั้นเท่านี้ ผมก็ว่าวิปริตผิดเพี้ยนแล้ว อย่างหลังนี้ยิ่งเพี้ยนยิ่งกว่าอีก

อันนี้คือคำสอนของลัทธิใดครับ

อย่ามาอ้างนะว่าเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนอย่างนี้แน่นอน

ใคร่กราบเรียนพระเถรานุเถระทั้งหลายช่วยพิจารณาด้วยว่า พระพุทธธรรมถูกนำไปแปลงสารจนน่าเกลียดปานฉะนี้ ท่านยังใจเย็นได้อยู่หรือขอรับ

หรือจะรอจนจีวรห้อยหูแล้วค่อยขยับ”

(พิมพ์ครั้งแรกใน ‘คมลัมน์รื่นร่มรมเยศ’ น.ส.พ.มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2541)

โดยนี่เป็นตอนหนึ่งจากหนังสือ ‘บทเรียนชาวพุทธจากกรณีธรรมกาย’ ที่เสฐียรพงษ์ วรรณปก ตั้งคำถามว่า “ความเชื่อ” จาก “คำสอน” ของวัดพระธรรมกายเป็นไปตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาหรือไม่

บทเรียนวิชาธรรมกาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image