สธ.ยันข้อมูล 1669 ทำงานเร็วถึงใน 4 นาที เร่งตรวจสอบสาเหตุนักฟุตบอลดับ!

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุสลดใจเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่สนามฟุตบอลภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี วงการฟุตบอลได้สูญเสียนายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ หรือโก๋ อายุ 58 ปี อดีตกองหลังทีมชาติไทยและสโมสรองค์การโทรศัพท์ ที่จะมาเล่นฟุตบอลที่สนามกระทรวงสาธารณสุขอยู่เป็นประจำทุกเย็น แต่วันเกิดเหตุ ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ขณะเล่นฟุตบอลนายบุญธรรมมีอาการเหนื่อย จึงออกมานั่งพักที่ข้างสนาม แต่อยู่ๆ ก็วูบและหมดสติ เพื่อนๆ รีบช่วยเหลือเบื้องต้น

ด้วยการปั๊มหัวใจ ขณะที่เพื่อนอีกคนวิ่งไปที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งอยู่ข้างๆ ไม่ไกลจากสนามฟุตบอล และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสนามก็ประสานขอความช่วยเหลือทางวิทยุสื่อสารด้วย

“ขณะเดียวกันยังโทรไปยังสายด่วนช่วยชีวิต 1669 ของ สพฉ. ซึ่งมีการถามรายละเอียดต่างๆ และขอเบอร์ผู้ที่ติดต่อ ผ่านไป 15-20 นาที ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มารับตัว สุดท้ายจึงนำร่างนายบุญธรรมขึ้นรถกระบะไปส่งสถาบันบำราศนราดูรแทน แต่ไม่สามารถช่วยได้ทัน นายบุญธรรมเสียชีวิตแล้ว ทุกคนเสียใจมาก หากไม่มัวแต่รอความช่วยเหลือจาก สพฉ. และรีบพาไปโรงพยาบาลน่าจะดีกว่าเพราะอยู่ห่างแค่ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ไม่อยากโทษใคร” เพื่อนนายบุญธรรมกล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบการรับแจ้งเหตุพบว่า ผู้ป่วยวูบและหมดสติช่วงเวลา 17.00 น. หลังจากมีเพื่อนๆ เข้าไปช่วยเหลือ และได้แจ้งไปยังสายด่วน 1669 โดยมีบันทึกข้อมูลรับแจ้งเหตุ ณ เวลา 17.23 น.

Advertisement

โดยศูนย์รับแจ้งเหตุสั่งการให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าประสานไปยังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อไปรับผู้ป่วยที่บริเวณสนามฟุตบอลกระทรวงสาธารณสุขทันที

“สถาบันบำราศนราดูรได้รับแจ้งเวลา 17.24 น.และนำรถออกไปรับผู้ป่วยเวลา 17.27 น. ปรากฏว่าสวนทางกับเพื่อนๆ ที่นำผู้ป่วยขึ้นรถกระบะไปส่งที่สถาบันบำราศนราดูร โดยเวลา 17.30 น.

ทีมแพทย์ได้ทำซีพีอาร์ช่วยชีวิตอย่างเต็มที่ สุดท้ายเวลา 18.15 น. ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ ผู้ป่วยเสียชีวิต” นพ.เกียรติภูมิกล่าว และว่า เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่าหลังรับแจ้งเหตุได้เข้าให้การช่วยเหลือภายในเวลามาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินคือไม่เกิน 10 นาที

Advertisement

นพ.วิทูรย์ อนันกุล รองผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า เมื่อเช็กระบบเก็บข้อมูลรับแจ้งเหตุ 1669 ที่ศูนย์รับแจ้งนนทบุรี โดยโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า รับแจ้งเวลา 17.23 น.

และประสานต่างๆ จนรถการแพทย์ฉุกเฉินออกไปรับผู้ป่วยนั้น เป็นเวลารวมไม่เกิน 4 นาที แต่สวนทางกับเพื่อนๆ ที่นำผู้ป่วยส่งสถาบันบำราศนราดูร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยถึงสถาบันบำราศนราดูรปรากฏว่าไม่พบสัญญาณชีพ หัวใจหยุดเต้น แพทย์ได้ทำการซีพีอาร์ช่วยชีวิตร่วมชั่วโมง กระทั่งเวลา 18.15 น. จึงแจ้งญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว

“สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือ ทางเพื่อนๆ ผู้ร่วมเหตุการณ์ระบุว่าได้วิ่งไปแจ้งเหตุกับ สพฉ. แต่เนื่องจากเป็นช่วงเย็นแล้วทำให้ต้องแจ้งกับทาง รปภ. ซึ่ง รปภ.ขึ้นไปบอกเจ้าหน้าที่ สพฉ.ที่อยู่ในตึก แต่ทางผู้แจ้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพื่อนหรือญาติบอกว่าผู้ป่วยมีอาการชัก ทำให้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ เพราะหลายคนหากไม่ทราบจะคิดว่าไม่น่ามาจากภาวะความผิดปกติของหัวใจ จึงไม่ได้ใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automated External Defibrillator : AED) ทั้งๆ ที่ สพฉ.มีเครื่องนี้อยู่” นพ.วิทูรย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะเหตุใดภาวะหัวใจหยุดเต้นจึงมีอาการชักและทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ นพ.วิทูรย์กล่าวว่า อาการชักก็เป็นอาการหนึ่งของหัวใจหยุดเต้น เพียงแต่คนทั่วไปอาจไม่ทราบ และไม่ได้บอกรายละเอียดของอาการมากนัก ทั้งนี้ เมื่อหัวใจหยุดเต้นก็ทำให้สมองขาดเลือดทำให้เกิดการกระตุก ชักได้ หรืออาจถึงน้ำลายฟูมปากด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม จุดนี้จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เพราะหลายคนยังไม่ทราบ รวมไปถึงวิธีการทำซีพีอาร์ ซึ่งนอกจากปั๊มหัวใจแล้วอาจต้องนำออกซิเจนเข้าปอดร่วมด้วย ทั้งนี้ สิ่งที่อยากแนะนำคือ หากพบเหตุคนหมดสติต้องพิจารณาอาการให้ดีว่ามีภาวะอย่างไรบ้าง หากมีการปั๊มหัวใจ อีกคนต้องรีบโทรไป 1669 ต้องทำควบคู่กัน จะรอทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ.ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นทราบว่าเพื่อนผู้ป่วยวิ่งมาแจ้งที่ สพฉ.ว่าผู้ป่วยมีอาการชัก ในเวลาประมาณ 17.30 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งไปยังศูนย์สั่งการ 1669 จ.นนทบุรีทันที ซึ่งศูนย์สั่งการ จ.นนทบุรีแจ้งว่าได้รับแจ้งเหตุแล้วรถฉุกเฉินกำลังเดินทางไป ทางเจ้าหน้าที่ของ สพฉ.ก็กำลังจะออกจากตึกไปให้การช่วยเหลือ แต่เป็นจังหวะเดียวกับเจ้าหน้าที่ รปภ.ได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่าผู้อยู่ในเหตุการณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปส่งสถาบันบำราศนราดูรแล้ว ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลกับสถาบันบำราศนราดูร พบว่าผู้ป่วยไปถึงเวลาประมาณ 17.30 น. ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่เพื่อนผู้ป่วยไปแจ้งที่ สพฉ.อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าตกลงเวลามีความเหลื่อมล้ำอย่างไร

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการประชุมสภา กทม. โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เข้าร่วมด้วย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) เสนอญัตติเรื่อง ขอให้ กทม.ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี ในสถานที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน

“ปัจจุบันพบว่า แต่ละปีผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจประมาณ 45,000-50,000 คน ในจำนวนนี้พบว่าไม่สามารถช่วยได้ทันประมาณ 700 ราย หากมีเครื่องเออีดีอาจช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินได้ถึงร้อยละ 50 จึงเสนอให้คณะผู้บริหารพิจารณาติดตั้งเครื่องเออีดี โดยติดตั้งในหน่วยงานของ กทม. ได้แก่ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สนามกีฬา กทม. สถานีรถไฟฟ้า และสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สำหรับค่าใช้จ่ายเครื่องเออีดีอยู่ที่เครื่องละ 100,000 บาท ซึ่งไม่มากเกินไป” นพ.พรเทพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image