‘บิ๊กอู๋’ วางศิลาฤกษ์บ้านประชารัฐริมคลอง ราคา 3.2 แสนย่านสายไหม ชาวบ้านเฮ! ผ่อนไม่ถึง 2 พัน

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ซอยสายไหม 46 เขตสายไหม กรุงเทพฯ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “สร้างชุมชนใหม่เลียบคลองสอง โซน 3 บ้านประชารัฐริมคลอง” ว่า พม.โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีเป้าหมายที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชาวชุมชนริมคลอง มีบ้านเรือนที่มั่นคง มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายในปี 2561 นี้ รวมทั้งสิ้น 52 ชุมชน จำนวน 7,081 ครอบครัว ซึ่งชุมชนเลียบคลองสองโซน 3 ที่มาในวันนี้ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง ซึ่งต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลอง เพื่อให้กทม.ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำในคลองลาดพร้าว ทั้งนี้ เนื่องจากชุมชนดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่คับแคบ และอยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ จึงไม่สามารถรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ในชุมชนเดิมได้ ชาวชุมชนจึงรวมตัวกันจัดหาที่ดินแปลงใหม่ เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยได้ซื้อที่ดินบริเวณซอยสายไหม 46 ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน ราคา 17 ล้านบาท โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อจำนวน 16 ล้านบาท และชุมชนสมทบจำนวน 8 แสนกว่าบาท มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 112 หลังคาเรือน ซึ่งในจำนวนนี้มาจาก ชุมชนเลียบคลองสอง โซน 3 จำนวน 72 หลังคาเรือน ชุมชนเลียบคลองสอง โซน 1 จำนวน 20 หลังคาเรือน และ ชุมชนหลังซอยแอนแน๊กซ์ จำนวน 20 หลังคาเรือน
S__983130

รมว.พม.กล่าวอีกว่า สำหรับที่อยู่อาศัยที่จะสร้างใหม่มี 2 แบบคือ บ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4×7 ตารางเมตร ราคา 322,399 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 1,952 บาท และบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 6×7 ตารางเมตร ราคา 478,255 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 2,991 บาท ซึ่งทั้ง 2 แบบจะผ่อนส่งระยะเวลา 15 ปี ทั้งนี้ หลังจากลงเสาเอกในวันนี้จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ แต่ระหว่างการก่อสร้าง ชาวชุมชนยังอาศัยอยู่ที่เดิม และเมื่อบ้านสร้างเสร็จก็ย้ายและรื้อถอนบ้านเดิมเพื่อสร้างเขื่อนต่อไป อย่างไรก็ดี โครงการก่อสร้างใหม่เรายังได้แบ่งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อสร้างสถานที่ทำการของสหกรณ์ สวนหย่อม สนามเด็กเล่น บ่อบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการก่อสร้างที่รองรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ตลอดจนการฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีบ้านมั่นคง และมีสภาพแวดล้อมรอบบ้านที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนในชุมชน

S__983130

นางตุ้ม นาคประสิทธิ์ อายุ 49 ปี ชาวชุมชนพัฒนา 1 ซึ่งที่อยู่อาศัยเดิมอยู่บริเวณสามแยกถนนจันทรุเบกษา-พหลโยธิน 54/1 และกำลังเป็นหนึ่งในผู้อยู่อาศัยบ้านขนาด 4×7 ในโครงการ กล่าวว่า บ้านที่อยู่ในปัจจุบันอยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่หรือประมาณ 50 กว่าปีแล้ว โดยสภาพก็ยังอยู่ได้ เพียงแต่ไม่มั่นคง ติดริมคลองที่น้ำดีบ้างไม่ดีบ้าง ไม่มีผู้นำชุมชน ไม่มีใครคอยดูแลชุมชน ทั้งนี้ พอทราบว่าภาครัฐจะมาทำโครงการ ตนก็ไปรับฟังตั้งแต่ครั้งแรกๆ ก็คิดไตร่ตรองดูว่าอะไรจริงอะไรเท็จ ก่อนผู้อยู่อาศัยจะมาพูดคุยและเกิดเป็นวงประชุมร่วมกัน ประชุมกันตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ชวนกันมาซื้อที่ดิน ชวนกันมาออมเงินตามเป้าหมายเพื่อจะมีบ้านที่ถูกกฎหมายเป็นของตัวเอง จนมีโครงการก่อสร้างในวันนี้ ซึ่งโครงการใหม่ตนได้บ้าน 2 หลัง เพราะบ้านเดิมมี 2 เลขที่บ้าน รวมสมาชิกอยู่อาศัย 8 คน

Advertisement

“ภาวนาจะให้โครงการสำเร็จ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยที่พวกเราสามารถคว้าได้ ผ่อนไหว และจะเป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถอยู่ได้จนถึงรุ่นลูกหลาน จากตอนแรกที่คิดว่าคงเกิด อยู่และตายไปกับบ้านริมคลอง แต่ทั้งนี้ พวกเราก็จะเฝ้าติดตามว่าจะก่อสร้างได้สำเร็จเสร็จตามเวลาหรือไม่” นางตุ้มกล่าว

S__983143
เบญจมาศ-ตุ้ม

ขณะที่ นางสาวเบญจมาศ บุญชั้น อายุ 27 ปี ชาวชุมชนพัฒนา 1 ซึ่งอยู่ข้างเคียงบ้านนางตุ้ม กล่าวว่า จริงๆตอนแรกตนไม่เห็นด้วยกับโครงการที่ภาครัฐมาบอก เพราะอยากอยู่ที่เดิม เดินทางสะดวกกว่า กลัวว่าจะทำไม่จริง กลัวว่ามาหลอกให้ออมเงินแล้วก็มีการโกงกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบทเรียนมาแล้ว แต่พอนางตุ้มมาเล่าทำความเข้าใจ ได้เห็นถึงความชัดเจนโครงการ ตนจึงเปลี่ยนใจเพราะคิดว่า อย่างน้อยถ้าผ่อนหมดบ้านก็เป็นของเรา ไม่เหมือนกับโครงการที่อยู่อาศัยผู้ที่รายได้น้อยอื่นๆ ที่ไปเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ระยะ 30 ปี ผ่อนหมดก็ยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กรมธนารักษ์ ขณะเดียวกันยังเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง ต่างจากบริเวณโดยรอบที่ราคาบ้านและที่ดินหลักล้านขึ้น ส่วนคอนโดราคา 5-6 แสนแถวนี้ก็ไม่น่าอยู่ ทั้งนี้ ตนได้บ้านใหม่ 2 หลัง เพราะมีสมาชิกครอบครัวเยอะ ปัจจุบันบ้านอยู่กัน 20 กว่าคน

“โครงการนี้เกิดได้จากความสามัคคีและการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างขณะนี้เราประชุมวางกติกาการอยู่ร่วมกัน อาทิ ไม่เลี้ยงหมา-แมว ห้ามจัดปาร์ตี้ ห้ามกระทำความรุนแรง ฯลฯ นอกจากตัวบ้านใหม่ที่เราต้องการ เรายังอยากได้สนามเด็กเล่น สถานที่ออกกำลังกาย รวมถึงหางานมาให้คนว่างงาน คนชราในโครงการทำ ในลักษณะผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ได้ ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหมั่นคอยมาตรวจตราดูแลเป็นระยะ และทราบว่าโครงการจะมีสิ่งเหล่านี้ด้วย” นางสาวเบญมาศกล่าว

Advertisement

S__983135

S__983137

S__983138

S__983139

S__983140

S__983141

S__983142

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image