สธ. ยันไทยเจอ “ฝีดาษวานร” แล้วแต่ไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง ชี้ยกระดับการสื่อสารกลุ่ม Sex Worker สังเกตอาการตุ่มตามตัว
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีที่มีรายงานข่าวระบุว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) สายพันธุ์เคลดวัน (Clade Ib) ที่มีความรุนแรง และกำลังระบาดมากในประเทศแถบแอฟริกา ว่า ยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังไม่เจอฝีดาษวานรสายพันธุ์รุนแรง คือ สายพันธุ์เคลดวัน (Clade Ib) แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เคยเจอฝีดาษวานร แต่เราเจอในสายพันธุ์เคลดทู (Clade IIb) มาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ราว 800 ราย ส่วนในปี พ.ศ.2567 เราพบประมาณ 140 ราย ซึ่งยังเป็นสายพันธุ์เคลดทู (Clade IIb) อยู่ ส่วนมาตรการควบคุมตามด่านเข้าประเทศ กรมควบคุมโรคดำเนินการเข้มข้นมาตลอด แม้กระทั่งช่วงนี้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการเฝ้าระวัง แต่ก็ยังไม่ได้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความกังวล ตนขอแจงว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลก ให้ความสนใจเพราะพบการระบาดของโรคสูงขึ้นในแถบแอฟริกา แต่สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ ไม่ควรติดเชื้อไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร แม้ว่าสายพันธุ์เคลดทู (Clade IIb) ที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงก็มักหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรติดเชื้อ ส่วนสายพันธุ์เคลดวัน (Clade Ib) ที่กังวลเนื่องจากเกิดการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการแพร่กระจายเชื้อไวรัสติดได้ง่ายขึ้น มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า เช่น ละอองฝอยน้ำลาย เพราะเดิมทีการติดเชื้อฝีดาษวานร จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมาก ๆ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์
“สำหรับประเทศไทย ได้ยกระดับเรื่องความเข้มข้นในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ดูถี่มากขึ้น เฝ้าระวังมากขึ้น พร้อมให้ความรู้ประชาชนให้ตระหนักมากขึ้น เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับ Sex Worker ก็ต้องทราบเรื่องนี้ ต้องเฝ้าระวังตัวเองมากขึ้น ดูว่าผู้ที่เข้ามานั้น มีอาการผิดสังเกต มีตุ่มแผลตามร่างกายหรือไม่” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนอาการที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ร่างกายมีตุ่มหนองเกิดขึ้น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พร้อมบอกความเสี่ยงของตัวเอง ส่วนแพทย์เองก็จะทำการตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรให้ หากพบว่าติดเชื้อ ก็จะต้องส่งตัวอย่างเชื้อไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ เพื่อจำแนกสายพันธุ์และเฝ้าระวังต่อไป เช่นหากเจอเป็นสายพันธุ์เคลดวัน (Clade Ib) ก็ต้องรายงานกรมควบคุมโรค เพราะโอกาสการระบาดก็จะมากขึ้น ทางกรมฯ ก็จะได้ยกระดับเฝ้าระวังขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าผู้ป่วยฝีดาษวานรในไทยที่เสียชีวิตราว 10 รายนั้น ยังคงเป็นกลุ่มที่เกิดการติดเชื้อร่วมกับการป่วยเอชไอวี (HIV) อยู่
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับกรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ของเชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย ด้วยการสุ่มตรวจทางห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด ล่าสุดการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม จำนวน 191 ราย ผลการวิเคราะห์แบ่งได้เป็น 8 สายพันธุ์ย่อย คือ A.2, A.2.1, B.1, B.1.12, B.1.3, B.1.7, C.1 และ C.1.1 โดยพบสายพันธุ์ย่อย C.1 มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 85.34 รองลงมาคือสายพันธุ์ย่อย A.2.1 ร้อยละ 5.76, C.1.1 ร้อยละ 3.66 และ A.2 ร้อยละ 2.09 ตามลำดับ และพบว่าสายพันธุ์ย่อย C.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากในช่วงแรกของสถานการณ์ระบาดที่เป็นสายพันธุ์ย่อย A.2 ทั้งนี้บ่งชี้ถึงการวิวัฒนาการของไวรัสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสะสมของการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับตัวตลอดเวลานพ.ยงยศ กล่าวว่า ปัจจุบันได้จำแนกไวรัสฝีดาษวานรออกเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ เคลดวัน Clade I, เคลดทูเอ Clade IIa, และเคลดทูบี Clade IIb สายพันธุ์ย่อย C.1 ถือว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เคลดวัน (Clade I) ที่มีการระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา โดยเคลดวัน Clade I มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10 ในขณะที่เคลดทู (Clade II) ทั้งเคลดทูเอ (Clade IIa) และ เคลดทูบี (Clade IIb) ซึ่งรวมถึง C.1 มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเพียงร้อยละ 1 โดยทั่วไปเคลดทู Clade II รวมถึง C.1 มีลักษณะการแพร่เชื้อที่ไม่รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการเครือข่าย จำนวน 62 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจเชื้อฝีดาษวานร ได้ครอบคลุมพื้นที่ 24 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก ภูเก็ต ราชบุรี ลำปาง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี ทั้งนี้สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรทางห้องปฏิบัติการ และสามารถถ่ายทอดไปยังห้องปฏิบัติการเครือข่าย ช่วยส่งเสริมการควบคุม และป้องกันการแพร่กระจายของโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันการณ์ และมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “สมศักดิ์” ลงพื้นที่ รพ.หลวงพ่อคูณ เป็นปธ.พิธีประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อคูณ-เปิดอาคาร 100 ปีชาตกาล
- สธ. เผยตัวเลขเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา หนีตายได้ 19 คน รุดส่งทีมเยียวยาจิตใจพ่อแม่ที่อุทัยฯ แล้ว
- สธ.ประชุมติดตาม “น้ำท่วม” ออก 5 ข้อสั่งการทุกพื้นที่เข้มเฝ้าระวังเหตุ
- สธ.สรุปผลงานปี’67 พร้อมประกาศเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ สร้างเศรษฐกิจสุขภาพ