สธ.รับเรื่องจริง! หลัง เพื่อน ‘อดีตนักบอลดับ’ ข้องใจ ‘สพฉ.’ ให้ข้อมูลเคลื่อน 5 นาที

กราฟิกมติชน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้สั่งการให้นพ.วิทูรย์ อนันกุล รองผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน ไปดำเนินการตั้งทีมสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย หัวใจวายระหว่างการฝึกซ้อมฟุตบอล ในสนามกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และเสียชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของเวลาในการแจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุที่รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กับเวลาที่เพื่อนของผู้เสียชีวิตได้โทรขอความช่วยเหลือว่า ตรงกันหรือไม่ เนื่องจากเวลาเพียง 1 นาทีก็มีผลต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยในการประชุมดังกล่าว เป็นเพียงการสอบถามเฉพาะกลุ่มเพื่อนๆ และผู้เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นประมาณ 6-7 คน โดยเป็นการหารือแบบปิด ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าฟัง และไม่อนุญาตให้ใครให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนเลย โดยขอให้รอการรวบรวมข้อมูลมากกว่านี้ก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังประชุม บรรดาเพื่อนๆและผู้เห็นเหตุการณ์ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ทางผู้แทนสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน ต่างมีอารมณ์ไม่ค่อยพอใจเท่าที่ควร เนื่องจากจากการสอบถามปรากฎว่า ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางผู้บริหาร สพฉ.ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเวลาที่โทรไปแจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 นั้น ไม่ตรงกัน เพราะทางเพื่อนๆยืนยันว่า โทรไป ณ เวลา 17.18 น. แต่ทางสพฉ.บอกว่าเช็กข้อมูลรับแจ้งเหตุที่เวลา 17.23 น. ซึ่งต่างกันถึง 5 นาที โดยข้อมูลตรงนี้มาตรวจสอบได้

เพื่อนผู้โทรแจ้งเหตุ 1669 กล่าวว่า ตนเป็นคนโทรไปแจ้งเหตุสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เอง ทางเจ้าหน้าที่ขอเบอร์ส่วนตัวตนไป เพื่อทราบอาการและโทรถามเส้นทาง แต่รอแล้วก็ไม่มีใครโทรกลับมา จนทุกวันนี้ก็ยังไม่โทรมาเลย และที่บอกว่ามีรถฉุกเฉินของสถาบันบำราศฯ วิ่งมารับผู้เสียชีวิตด้วยนั้น จริงๆ ตนและเพื่อนๆไม่เห็นมีรถสักคัน เพราะรถฉุกเฉินก็ต้องมีเสียงไซเรนดังอยู่แล้ว แต่นี่ไม่เห็น ไม่มีเสียงดังใดๆ

“จริงๆ พวกผมไม่ได้ต้องการตำหนิหรือต่อว่าใคร เพราะผู้เสียชีวิตก็เสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่พวกผมรู้สึกคือ นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดในกระทรวงสาธารณสุข เพราะในอดีตคนในกระทรวงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูมากว่า เคยมีกรณีแบบนี้มาก่อน 2 ครั้ง เป็นข้าราชการมาประชุมอยู่ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และอีกคนก็เป็นคนนอกมาวิ่งรอบกระทรวงก็เกิดอาการวูบเหมือนกัน แต่ผมก็ไม่รู้ ว่า ประสบเหตุความล่าช้าเหมือนเคสนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ คนไม่ค่อยรู้ว่ามีสถาบันบำราศนราดูรอยู่ใกล้ๆ เพราะไม่ใช่แค่คนกระทรวง ยังมีคนนอกมาวิ่ง มาออกกำลังกายอีก” ผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าว

Advertisement

เพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์ กล่าวอีกว่า พวกตนได้เสนอที่ประชุมเพื่อขอให้ผู้บริหาร สธ.ปรับปรุงโดยควรติดป้ายเบอร์โทรฉุกเฉินของสถาบันบำราศนราดูร ไม่ใช่แค่ 1669 เท่านั้น เพราะที่สถาบันบำราศฯ จะใกล้กว่าอยู่ภายในกระทรวงเอง ทำไมต้องไปเสียเวลาโทรไป 1669 เพื่อให้เขาประสานมาที่สถาบันบำราศฯอยู่ดี นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ก็ควรฝึกอบรมการช่วยชีวิตเบื้องต้นของรปภ.ในกระทรวงฯด้วย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณาสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ได้รับรายงานจากทีมที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยได้ขอข้อมูลไปทางทีโอที ทราบว่าเป็นไปตามเพื่อนผู้เสียชีวิตแจ้ง คือ โทรไปขอความช่วยเหลือ 1669 ณ เวลา 17.18 น.ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยทางศูนย์ฯรพ.พระนั่งเกล้าได้ซักถามประมาณ 2 นาที และโทรประสานไปยังสถาบันบำราศฯ เวลา 17.23 น. แต่สุดท้ายรถฉุกเฉินออกเวลา 17.27 น.แต่ไม่ทัน เพราะเพื่อนๆพาผู้เสียชีวิตมาที่รพ.พอดี และทางทีมแพทย์ก็พยายามช่วยเหลือแต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้

“เรื่องนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเสียใจกับเหตุการณ์ แต่จากนี้ผมได้สั่งการให้จัดระบบสธ.ใหม่ ให้มีการติดเบอร์ของสถาบันบำราศนราดูรไว้ตามจุดต่างๆแล้ว” รองปลัดสธ.กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image