สสส.จับมือภาคีทบทวนกม.กระทำผิดซ้ำ ‘เมาแล้วขับ’ ตั้งเป้าปี’70 ลดตาย 12 คนต่อแสนประชากร
เมื่อวันที่ 5 กันยายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ศาลยุติธรรม, กรมคุมประพฤติ, มูลนิธิเมาไม่ขับ, เครือข่ายเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับของไทย จัดสัมมนา “ครบรอบ 2 ปี การกระทำผิดซ้ำเมาแล้วขับ กับการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย”
โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส., นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม และเครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ, นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.), นายณัฐพล สิทธิพราหมณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์, ดร.ชนินทร์ จักรภพโยธิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, พ.ต.ท.พชร์ ฐาปนดุลย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), น.ส.พวงทิพย์ นวลขาว ผู้อำนวยการกองพัฒนาการคุมประพฤติ, นายนิกร จำนง คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา และพล.ต.ท.วันชัย เอกพรพิชญ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ จ.นครศรีธรรมราช เข้าร่วม
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนจาก “ดื่มแล้วขับ” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทย จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากดื่มแล้วขับ 284,253 ราย เฉลี่ยปีละ 56,850 ราย มูลค่าความสูญเสีย 3.7 แสนล้านบาท โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต เฉลี่ยถึง 4,519 ราย ผลกระทบสำคัญ คือ เหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับ มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 มีเหยื่อจากผู้ดื่มแล้วขับมากถึง 207 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ราย จำเป็นต้องเร่งมาตรการตรวจวัดแอลกอฮอล์ที่ครอบคลุม และลงโทษผู้กระทำความผิดโดยเฉพาะความผิดซ้ำ สสส.จึงร่วมกับภาคี สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบาย และรณรงค์ในพื้นที่ ผลักดันข้อกฎหมายดื่มแล้วขับและกระทำผิดซ้ำ บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนวิเคราะห์หาสาเหตุ ที่สามารถเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นได้ในอนาคต
“สสส. และภาคีเครือข่ายถอดบทเรียน โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ระยะ 1.ระยะสั้น ภายใน 6 เดือน ออกแบบระบบตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ สนับสนุนให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมออกแบบระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกัน ตรวจสอบประวัติกระทำผิดซ้ำ ประชาสัมพันธ์ผลการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง 2.ระยะกลาง ภายใน 1 ปี ผลักดันด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงานของ ตร.ได้แก่ เครื่องเป่าวัดแอลกอฮอล์อย่างน้อย 15,000 เครื่อง พัฒนาระบบการตรวจสอบ และยืนยันบุคคลผ่านลายนิ้วมือออนไลน์ทั่วประเทศ 3.ระยะต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปี ผลักดันเพิ่มโทษสร้างความเกรงกลัวไม่ให้กล้ากระทำผิดซ้ำ สนับสนุนให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี นำปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ตรวจวัดได้ในแต่ละระดับมาเป็นบทกำหนดโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สำหรับการใช้มาตราการต่างๆ ในเรื่องนี้ การให้ความรู้ที่เป็นพื้นฐานอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องอาศัยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนผ่านมามากเข้ามาประกอบด้วย แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีความก้าวหน้า และเป็นสิ่งที่ต้องกลับมาเรียนรู้ว่ามีพัฒนาการ ข้อจำกัด และต่อยอดได้อย่างไร เพื่อมาลดการดื่มสุราของคนไทย อย่างน้อยที่สุดจะส่งผลต่อตัวเองในด้านสุขภาพและลดการดื่มแล้วขับได้ ในปี 2570 ตั้งเป้านโยบายความปลอดภัยทางถนนให้เหลืออัตราการเสียชีวิต 12 คน ต่อ 1 แสนประชากร เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างในการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำงานด้านความปลอดภัยบนท้องถนนมาตลอด
ขณะที่ พล.ต.ท.วันชัย กล่าวว่า ในฐานะ สว. อยากเสนอการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำของไทย ควรเพิ่มบทลงโทษขึ้นไปอีก กรณีเมาแล้วขับทำผิดซ้ำ จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือ ปรับสูงสุด 200,000 บาท, ทำให้ผู้อื่น ได้รับบาดเจ็บจำคุกพร้อมทำงานนานถึง 15 ปี และยึดรถ ส่วนกรณี ส่วนกรณีทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จำคุกพร้อมทำงานนานถึง 20 ปี ความผิดถึงบุคคลที่จัดหายานพาหนะ หรือ ให้ยืม ผู้จำหน่ายสุราและผู้โดยสารที่นั่งรถก็สามารถถูกลงโทษได้ และยึดรถ ตำรวจต้องทำตามกฎหมาย เมื่อตรวจพบว่าเมา ต้องตรวจสอบประวัติ เอาให้ชัด อย่าส่งไปโดยไม่ตรวจสอบประวัติ และอย่ามีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้านนายสุรสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละปีจะมีเหยื่อจากเมาแล้วขับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาล หลายราย สูญเสียอวัยวะ เสียโอกาสในการดำเนินชีวิต ที่สำคัญ ต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่ตนเองไม่ได้ก่อ เหยื่อหลายรายไม่ได้รับเงินเยียวยา ถึงเวลาต้องวางแนวทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดื่มแล้วขับที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม
“กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำในปัจจุบันบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับภาคประชาชน การเพิ่มโทษและความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ที่เคยกระทำผิดเมาแล้วขับ ไม่กล้าเสี่ยงและรับโทษที่รุนแรง ที่เรียกว่า ความเกรงกลัวในการกระทำผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 1.ไม่รอดในการจับกุมเมื่อกระทำผิด 2.ต้องถูกลงโทษหนักในทุกครั้งทุกกรณี” นายสุรสิทธิ์ กล่าวและว่า อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรม
ดร.ชนินทร์ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “การบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับกระทำผิดซ้ำของไทย ควรก้าวต่อไปอย่างไร” ว่า ในการเพิ่มโทษหรือคุมประพฤติแก่ผู้ที่กระทำผิดซ้ำดื่มแล้วขับแล้วขับ ควรนำระบบแอลกอฮอล์ อินเตอร์ล็อก (Alcohol interlock) เข้ามาเป็นเงื่อนไขการคุมประพฤติควบคู่กับการรอการลงโทษ ซึ่งเป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถขี่สตาร์ทรถได้ หากผู้ขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายระดับที่สูงกว่าจะปลอดภัยในการขับรถ โดยผู้ขับขี่จะต้องเป่าลมเข้าไปก่อนจะสตาร์ทรถทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถขับรถได้
นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการในการพิจารณาคดีกระทำผิดซ้ำ ต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดกระบวนการที่ชัดเจน และไม่ปล่อยให้คนที่กระทำผิดซ้ำ หลุดออกจากการพิจารณาคดี และสิ่งสำคัญต้องเร่งสร้างเรื่องนี้ให้เป็น สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม
นายนิกร กล่าวภายหลังรับข้อเสนอนโยบายว่า เป็นฐานะตัวแทนรัฐสภาารับข้อเสนอกฎหมายเมาไม่ขับ โดยเรื่องนี้จะส่งไปทางคณะกรรมาธิการกฎหมายไปพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนนได้มีการเสนอเข้าไปในรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ขอให้ติดตามการแถลงของรัฐบาลอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สสส. ผนึกกำลัง ก.ศึกษาธิการ พัฒนาเยาวชนสร้างแกนนำป้องกันนักดื่ม นักสูบหน้าใหม่
- สสส. จับมือ กระทรวงศึกษาธิการดันนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม มุ่งเป้าพัฒนาครู-บุคลากร
- สสส. สานพลัง ภาคี จัดเวที Policy Forum 3 จว.ชายแดนใต้อาหารปลอดภัย
- สสส. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สานพลังเครือข่ายละครเพื่อการเรียนรู้ 5 ภาคหนุน วิชาชนะมาร สู่ภาคการศึกษา