นายก ส.ต้านโลกร้อน นำชาวบ้านนครหลวง ฟ้อง 14 หน่วยสิ่งแวดล้อม ปล่อย 51 รง.ถ่านหิน 26 ท่าเรือ ก่อมลพิษ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านพื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา รวม 81 ราย ยื่นฟ้อง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา , อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , อธิบดีกรมเจ้าท่า , อธิบดีกรมอนามัย , อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ , คณะกรรมการ ว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม , คณะกรรมการควบคุมมลพิษ , คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแก , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพง , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอรัญญิก และนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลนครหลวง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-14 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองกลาง

เรื่องละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จากการอนุญาตประกอบกิจการโรงงานถ่านหิน คลังสินค้า กว่า 51 โรงงาน และท่าเทียบเรือกว่า 26 แห่ง และกิจการต่างๆ ในพื้นที่ อ.นครหลวง ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง เสียงดัง น้ำเสีย ตลิ่งพัง ส่งผลให้ชาวบ้าน ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากผู้ถูกฟ้องและผู้ประกอบการ ไม่ระงับ หรือป้องกัน แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ผู้ฟ้อง จึงขอให้ศาลพิพากษา 1.ให้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด หรือผู้ถูกฟ้องที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ สั่งการให้ผู้ประกอบการโรงงาน หรือสถานประกอบการ หรือคลังสินค้า หรือท่าเรือ ปฏิบัติตาม ข้อตกลงมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการโรงงานทุกข้อ พร้อมรายงานให้ศาลและผู้ฟ้องทราบทุกๆ 30 วัน ตลอดอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการ 2.ให้ผู้ถูกฟ้อง 1 , 2 , 9-14 กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม และสั่งให้ผู้ประกอบการโรงงาน หรือสถานประกอบการ หรือคลังสินค้า และโรงงานถ่านหิน คลังสินค้า สถานประกอบการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ ในพื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ทั้งหมด ดำเนินกิจการในระบบปิด ไม่ปล่อยฝุ่นละออง น้ำเสีย หรือก่อเสียงดังมาก กระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด

3.ขอให้ อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้ถูกฟ้องที่ 3 สั่งผู้ประกอบการท่าเรือในพื้นที่ อ.นครหลวง ทั้งหมด ดำเนินกิจการในระบบปิด และสั่งรื้อถอนท่าเทียบเรือในส่วนที่ลุกล้ำ ลำน้ำป่าสักออกทั้งหมด รวมทั้งท่าเรือที่รับหรือทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกที่มีน้ำหนักหรือระวางเกิน 500 ตันกรอสให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และให้เพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือที่ฝ่าฝืน กับให้เอาผิดผู้ประกอบการเรือบาสที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านด้วย

Advertisement

4.ให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ , คณะกรรมการ ว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ในการออกมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม และให้สามารถตรวจสอบได้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ฟ้อง โดยให้รายงานการดำเนินงานให้ศาลและผู้ฟ้องทราบทุกๆ 30 วัน จนกว่าปัญหาจะหมดไป

รวมทั้งให้ติดตั้งเครื่องมือวัดอากาศและเสียงในพื้นที่ทุกตำบลใน อ.คลองหลวง ตามมาตรฐานวิชาการและรายงานผลการตรวจวัด ให้สาธารณะทราบตลอดเวลา และ 5.ให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 8 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่ อ.นครหลวง เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

โดยนายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เรื่องนี้ชาวบ้านเคยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำคดีมาฟ้อง โดยศาลรับไว้เป็นคดีหมายเลขดำ ส.7/2559 ขณะที่เราได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีด้วย หากจะมีการไต่สวน คาดว่าอาจจะ 1หรือ 2 สัปดาห์นับจากนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image