ปลัด สธ. เร่งเยียวยาใจเหยื่อท่วมกว่า 2.1 หมื่นคน พบเครียดสูง 521 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 ราย
วันที่ 15 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมทางไกลศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” กับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเสี่ยงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
นพ.โอภาส กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. มีความห่วงใยและได้ย้ำให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเตรียมความพร้อมทั้งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มเปราะบาง ติดบ้านติดเตียง รวมถึงป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มาจากน้ำท่วม ซึ่งส่วนกลางและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ เช่น ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย ชุดทดสอบโรคฉี่หนู ยาพระราชทาน ยารักษาน้ำกัดเท้า ยากันยุง และรองเท้าบูท เป็นต้น รวม 21,400 ชุด
ปลัด สธ.กล่าวว่า ในการบริหารจัดการสถานการณ์ ได้แบ่งจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มรอรับน้ำโขงที่กำลังจะมาถึง เช่น อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมยาและเวชภัณฑ์ พร้อมสำรวจกลุ่มเปราะบางเพื่อเตรียมแผนเคลื่อนย้าย 2.กลุ่มที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น เช่น เลย หนองคาย บึงกาฬ ให้เตรียมการป้องกันสถานบริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพื่อให้สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและที่ไม่สามารถเดินทางมาโรงพยาบาลได้ เช่นที่ หนองคาย เปิดศูนย์พักพิงรวม 17 แห่ง ก็ได้ระดมทีมด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งจังหวัดข้างเคียงและส่วนกลางเข้าสนับสนุนดูแล 3.กลุ่มที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ซึ่งจะต้องเร่งฟื้นฟู ให้เฝ้าระวังเรื่องโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ที่พบบ่อยคือ โรคฉี่หนู (leptospirosis) ต้องจัดระบบเฝ้าระวังและค้นหาสัญญาณการระบาดให้เร็ว เพื่อควบคุมโรคได้ทันท่วงที และออกคำแนะนำประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ทีมกู้ชีพ/กู้ภัย หากไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติลุยน้ำย่ำโคลน
“สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิต ได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ออกปฏิบัติการควบคู่กับการดูแลด้านสุขภาพกาย โดยตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม – วันที่ 13 กันยายน 2567 ทำการประเมินและให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ทั้งผู้ประสบภัย ญาติผู้สูญเสีย/บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่และชุมชนวงกว้าง รวม 21,680 คน ในจำนวนนี้ พบมีภาวะเครียดสูง 521 คน เสี่ยงซึมเศร้า 73 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ผบ.รบพิเศษ’สั่งกำลังพลเร่งลงพื้นที่ช่วยภาคเหนือ จับมือกู้ภัยขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง
- ยอดดับสะสม 52 ราย กระทบกว่า 6 หมื่นครัวเรือน ปภ.รายงานท่วมหนัก 19 จังหวัด เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน
- ยามาฮ่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วม ฟรี! 5 รายการ
- ลำพูน อ่วม!! รับน้ำจากเชียงใหม่หลากท่วม 2 ตำบล ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เร่งตั้งศูนย์ช่วยปชช.