DNA ปลาหมอคางดำใกล้เคียง 2 ประเทศ กำลังบอกอะไร? 

กรมประมงแจ้งผลการวิจัยว่า พบพันธุกรรมปลาหมอคางดำที่ระบาดในไทยมีความใกล้เคียงกับปลาหมอคางดำใน 2  ประเทศ คือประเทศกานาและประเทศโกตดิวัวร์ (ไอเวอรี่โคสต์) ซึ่งเป็นการวิจัยต่อยอดจากงานวิจัยเดิม โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ “ที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหารวมถึงผลกระทบ จากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย” ของรัฐสภา เป็นผู้เสนอให้กรมประมงนำลำดับ DNA ของปลาหมอคางดำที่พบในประเทศต่างๆ หลายประเทศของทวีปแอฟริกามาเทียบกับลำดับ DNA ของปลาที่พบในไทยในปัจจุบันเพื่อช่วยระบุแหล่งที่มาของปลา

รศ.ดร.เจษฎา นำผลวิจัยดังกล่าวพร้อมแผนภูมิต้นไม้วิวัฒนาการ (phylogenetic tree) ที่กรมประมงทำขึ้นมาเผยแพร่ให้ความรู้กับสังคมผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant  โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้กรมประมงเคยเผยแพร่ผลงานวิจัย DNA ของปลาหมอคางดำในประเทศไทยมา 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ความหลากหลายทางพันธุกรรมกับพันธุปฏิทรรศน์ของการระบาดปลาหมอสีคางดำในประเทศ (ปี พ.ศ.2563) และ 2) การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดําในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร (ปี พ.ศ.2565) ซึ่ง ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างจากประชากรปลาหมอคางดำจากพื้นที่แพร่ระบาด 7 จังหวัด มีความคล้ายคลึงกัน และมีการแพร่กระจายอยู่ 2 ลักษณะคือ 1) จากคลองที่เชื่อมต่อกัน และ 2) จากการขนส่งเคลื่อนย้ายโดยมนุษย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แล้วเกิดการหลุดรอด จนแพร่กระจายเป็นหย่อมๆ ไม่มีคลองเชื่อมต่อถึงกัน แต่ผลการทดลองนั้นก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าน่าจะมีการนำปลาหมอสีคางดำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ทั้งยังมีการดึงตัวอย่างข้อมูลพันธุกรรม (จาก mitochondrial DNA ส่วน D-loop) จากต่างประเทศมาเปรียบเทียบเพียงแค่ตัวอย่างเดียวจึงทำให้บอกแหล่งที่มาต้นทางของประชากรปลาหมอคางดำในประเทศไทยได้ลำบาก

รศ.ดร.เจษฎาจึงรวบรวมลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกาจากฐานข้อมูล GenBank – NCBI ของต่างประเทศมาทำการวิเคราะห์พื้นฐานและนำส่งให้กับกรมประมง เพื่อให้นักวิจัยของกรมฯ ได้นำไปเปรียบเทียบกับลำดับพันธุกรรมที่มีอยู่เดิม ผลการวิเคราะห์สร้างแผนภูมิต้นไม้วิวัฒนาการ (phylogenetic tree) ด้วยวิธี neighbor-joining (NJ) จากตัวอย่าง สาย DNA ของปลาหมอคางดำ 6 ประเทศ เป็นจำนวนกว่า 40-50 สาย พบว่า พันธุกรรมของปลาหมอคางดำในทวีปแอฟริกานั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มประชากรอย่างชัดเจน คือกลุ่มย่อยของ 4 ประเทศที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ได้แก่ มอริเตเนีย, เซเนกัล, เซียร์ราลิโอน, ไลบีเรีย และกลุ่มย่อยของ 2 ประเทศที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ได้แก่ โกตดิวัวร์ (หรือชื่อเดิม ไอเวอรี่โคสต์) และกานา

ผลการวิเคราะห์วิวัฒนาการชาติพันธุ์ (phylogenetic analysis) พบว่าตัวอย่างปลาหมอคางดำที่เก็บจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วงปี 2560 ถึง 2564 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกับตัวอย่างจากกานาและโกตดิวัวร์ โดยมีค่าความเชื่อมั่นของกิ่งรวมบนแผนภูมิต้นไม้นี้ตามการวิเคราะห์แบบ bootstrap ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงคือมากถึง 70% แม้ว่าลักษณะของแผนภูมิต้นไม้ NJ tree จะบอกว่า พันธุกรรมของปลาจากประเทศไทยน่าจะมีความใกล้ชิดกับปลาในประเทศกานามากกว่าจะประเทศโกตติวัวร์ แต่ค่าความเชื่อมั่น bootstrap ในกิ่งย่อยๆ ของแผนภูมิต้นไม้ ภายในกลุ่มย่อย “กานา-โกตดิวัวร์-ไทย” นี้ มีค่าต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถยืนยันคำตอบได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศกานาเท่านั้น  และแม้ว่าจะทำให้ประเด็นต้นกำเนิดที่มาของปลาหมอคางดำในประเทศไทยนั้นสโคปแคบลงไปได้มากแต่ก็ไม่ได้เป็นการฟันธงเช่นกันว่าจะต้องมาจากบริษัทที่ขออนุญาตนำเข้าเพียงบริษัทเดียวเนื่องจากอาจมีบริษัทอื่นที่ลักลอบนำเข้าปลาจากทวีปแอฟริกาอีก แต่ไม่แจ้งขออนุญาตก็เป็นไปได้

Advertisement

คำอธิบายของ รศ.ดร.เจษฎา ชัดเจนตามแนวทางของนักวิทยาศาสตร์ที่พึงออกมาให้ความรู้แก่สังคม ไม่ให้จมไปกับความไม่รู้ ที่มักถูกแต่งแต้มตามความเชื่อมากกว่าความจริง ในขณะที่ ส.ส.บางคนกลับเลือกให้สัมภาษณ์เพียงครึ่งเดียวว่า “DNA ที่พบจากปลาในบ่อพักน้ำเมื่อปี 2560 ตรงกับประเทศต้นทางที่กานา หมายความว่าปลาที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยและที่พบอยู่ในบ่อพักน้ำปี’60 มาจากประเทศกานาแน่นอน” ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าปลาในบ่อพักน้ำเป็นปลาที่เล็ดลอดจากคลองธรรมชาติเข้าไป การมี DNA ตรงกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา อันที่จริง ถ้า ส.ส.ท่านนั้นระบุให้ชัดว่า DNA ของปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย มีความใกล้เคียงกับ DNA จากปลาใน 2 ประเทศคือกานาและประเทศโกตดิวัวร์ก็จะไม่ทำให้สังคมสับสน และจะนำไปสู่การค้นหาความจริงกันต่อว่าใครกันที่ลักลอบนำปลาเข้ามาโดยไม่ขออนุญาต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image