‘อัศวิน’แจงผลกระทบไหม้’สะพานไทย-เบลเยียม’ เปิดใช้ขาเข้าได้ 1 เลน ไม่อนุญาต’รถ 6 ล้อ’ผ่าน!

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย นายพินิต เลิศอุดมธนา รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการซ่อมแซมสะพานไทย-เบลเยียม จากกรณีเพลิงไหม้ถังขยะที่อยู่บริเวณใต้สะพาน ในช่วงเช้าของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุไฟไหม้บริเวณใต้สะพานไทย-เบลเยียม ในช่วงเช้าของ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้สะพานทั้งฝั่งขาเข้า-ขาออกถูกเพลิงไหม้ จากความยาวของสะพาน 300 เมตร พบว่ามีความเสียหาย 25 เมตร โดยทาง กทม.ได้ขอความร่วมมือไปยังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในการร่วมตรวจสอบ และถึงแม้ว่าถนนบริเวณดังกล่าวจะมีการจราจรที่คับคั่ง แต่ทาง กทม.เองมีความเป็นห่วงในความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยได้มีการตรวจสอบตามหลักวิทยาศาสตร์ และจากการหารือร่วมกับ บช.น.และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สรุปว่า บริเวณทางขึ้นสะพานขาเข้าไปหัวลำโพงสามารถใช้การได้ โดยจะเปิดให้ประชาชนใช้งานในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 1 มีนาคม ส่วนฝั่งขาออกไปทางคลองเตยนั้น พบว่าต้องมีการปิดซ่อมแซมชั่วคราวโดยคาดว่าจะสามารถเปิดใช้ได้ 1 ช่องทางจราจรในวันที่ 6 มีนาคม

นอกจากนี้ กทม.จะจัดทำป้ายห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งบนสะพาน โดยจะอนุญาตให้เพียงรถ 4 ล้อวิ่งบนสะพานได้เท่านั้น โดยจะมีการติดตั้งป้ายดังกล่าวในช่วงเช้าของวันที่ 2 มีนาคม โดยในเบื้องต้นจะเป็นการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนโดยการใช้ตำรวจจราจร ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในเบื้องต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าวหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ในเบื้องต้นอาจต้องมีการเปลี่ยนใหม่เป็นบางส่วน โดยทาง กทม.ต้องตรวจสอบวัสดุที่มีอยู่แล้วในการปรับเปลี่ยน

Advertisement

นายเอนกกล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบความแข็งแรงของพื้นผิวเหล็ก พบว่า เหล็กที่ถูกไฟไหม้มาก คือคานด้านในของสะพานทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก โดยคานเหล็กบริเวณริมฝั่งขาออกนั้นไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากการดับไฟด้วยการฉีดน้ำดับเพลิงอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เหล็กเย็นตัวในระยะเวลาสั้น ทำให้พื้นผิวเหล็กแข็งเกินไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถใช้ช่องทางการจราจรขาออกได้อย่างน้อย 1 ช่องทาง อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ทาง สนย.ได้นำเสาจำนวน 4 ต้นไปเสริมบริเวณดังกล่าวเพื่อให้เกิดการค้ำยัน ก่อนที่จะมีการทดสอบ โดยใช้รถบรรทุกหนัก 15 ตัน 4 คันวิ่งบนสะพาน เพื่อดูว่าสะพานนั้นคืนตัวหรือไม่ โดยในเบื้องต้น พบว่าสะพานสามารถใช้งานได้เกือบเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม คานเหล็กบริเวณริมฝั่งขาออกนั้นต้องมีการเสริมกำลัง ดัดแปลง หรืออาจต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

ด้าน พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวว่า หากสะพานฝั่งขาเข้าใช้การได้ภายในวันนี้ ในช่วงเย็นซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วน โดยเปิดรีเวิร์สเลนในสำหรับรถที่มุ่งหน้าขาออกไปทางคลองเตย ในฝั่งขาเข้าทั้ง 2 ช่องการจราจร โดยเปิดเกาะกลางก่อนถึงเชิงสะพานไทย-เบลเยียมประมาณ 30 เมตร ให้รถฝั่งขาออกเข้ามาใช้รีเวิร์สเลนทั้ง 2 ช่องทางจนกว่าปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าวจะคลี่คลาย สำหรับในเวลา 06.00-10.00 น. จะเน้นการระบายรถจากถนนพระราม 4 ขาเข้า โดยเปิดให้เป็นขาเข้าทั้งหมด หากไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วนจะมีการวางกรวยบริเวณตรงกลางขาเข้า เพื่อเปิดเป็นช่องทางทั้งขาเข้าและขาออก อย่างละ 1 ช่องทางการจราจร

“โดยจะใช้แผนจัดการจราจรในรูปแบบดังกล่าวจนกว่าจะมีการซ่อมสะพานเสร็จ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปิดใช้สะพานขาเข้าแล้วนั้น บช.น.จะยกเลิกแผนการปรับการจราจรบนพื้นราบและใช้สัญญาณไฟตามปกติเหมือนที่ผ่านมาเพื่อลดผลกระทบ โดยทาง บช.น.จะมีการวางแผนใหม่อีกครั้งหากมีการเปิดอีกหนึ่งช่องทางการจราจรในวันที่ 6 มีนาคม” พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image