วงเสวนาสังคมสูงวัย-สร้างเด็กเกิดใหม่ จุฬาฯ เสนอบรรจุ “มีบุตรยาก” เป็นโรค สามารถลาหยุดไปรักษาได้

(แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ จุฬาฯ จัดเวทีเสวนาครั้งที่ 5 เรื่อง “ปฏิรูปสังคมสูงวัย สร้างเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพ” ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ แพทย์ ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วม

โดย นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากรมการปกครองพบเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบันมี 7.3 แสนคนต่อปี ขณะที่ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบเด็กเกิดใหม่เฉพาะที่มีสัญชาติไทยมีเพียง 6.8 แสนคนต่อไปเท่านั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับอนาคตชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรวัยแรงงานจะลดลงในอนาคต กระทบจีดีพีและการทำงานในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดน้อย เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มพึ่งพิงตัวเองได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้ชาย อีกทั้งคิดว่าการมีบุตรเป็นภาระทางค่าใช้จ่าย และกระทบต่อหน้าที่การงาน กระทั่งบางคนเลือกอยู่เป็นโสด เป็นเหตุให้ที่ผ่านมากรมอนามัยต้องรณรงค์สาวแก้มแดงมีลูกเพื่อชาติ แต่ก็อยากให้เป็นการเกิดที่มีคุณภาพ

S__1155224
นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์

รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยถึงร้อยละ 15 แล้ว เท่ากับว่าทุกๆประชากร 10 คน เรามีผู้สูงอายุ 1 คนและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สถานการณ์สังคมสูงวัยของไทยแตกต่างจากต่างประเทศ ที่ของเราแก่ก่อนรวย เกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ แนวโน้มการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับการเพิ่มประชากรวัยแรงงาน สามารถทำได้โดยทดแทนด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่แนวทางนี้ต้องระวังเพราะในกลุ่มประเทศอาเซียนก็กำลังประสบปัญหาสังคมสูงวัยเช่นกัน รวมถึงการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุที่อยู่ระหว่างคิดกันอยู่ และการเกิดใหม่ของประชากร ซึ่งแนวทางเป็นสิ่งที่ต้องทำและต้องเป็นการเกิดที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับสูงวัยอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม มองว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องเรียนรู้บทบาทหญิงชายจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องวางแผนและรากฐานชีวิตอย่างไร จะอยู่อย่างไร จะมีครอบครัวอย่างไร อาจไม่ต้องบรรจุในหลักสูตร แต่ใส่ในกิจกรรมเรียนรู้ อาทิ วิชาลูกเสือเนตรนารี

S__1155226
รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงเสวนาได้นำเสนอแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลทางวิชาการอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่อยากให้การตัดสินใจมีบุตรเป็นเรื่องทั้งของผู้หญิงและผู้ชาย ที่ผู้ชายจะต้องเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบครอบครัว ดูแลภาระในครอบครัวร่วมกับผู้หญิง รวมถึงมาตรการส่งเสริมจากรัฐ ตั้งแต่ชุดข้อมูลต่างๆเพื่อประกอบการตัดสินใจมีลูก อาทิ รายละเอียดค่าใช้จ่ายหากมีบุตร สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ นอกจากที่มีอยู่แล้ว อาจต้องบรรจุเพิ่มภาวะการมีบุตรยากให้เป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่สามารถลาหยุดเพื่อไปรักษาได้ เบิกค่ารักษาได้ เพื่อทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น โรงพยาบาลเปิดบริการรักษามากขึ้น ราคาค่ารักษาก็จะน้อยลง

Advertisement

S__1155223

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image