อย.ไขข้อข้องใจ หลังมีกลุ่มห่วงสิทธิบัตรทำยาแพง

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่กลุ่มเอฟทีเอวอตซ์ แสดงความห่วงใยเรื่องการเร่งจดสิทธิบัตรยา เนื่องจากเกรงว่าการให้สิทธิบัตรเร็วเกินไป จะทำให้ผู้ผลิตยารายอื่นไม่สามารถผลิตได้ และส่งผลให้ราคายาแพงขึ้นนั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า การจดสิทธิบัตรยาซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่อยู่ในการกำกับดูแลของ อย. กระทรวงสาธารณสุข แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยเป็นอิสระต่อกัน มีกฎหมายควบคุมคนละฉบับ คือพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 กรณีที่ผู้ประกอบการด้านยายื่นขอจดสิทธิบัตรยาแล้ว ก็ต้องมาขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. อีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง อย.จะพิจารณาในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของยาก่อนอนุมัติให้ยาออกจำหน่าย และมีมาตรการในการกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตคงคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งยาใหม่ทุกตัวมักมีราคาแพง และสามารถจำหน่ายได้ในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม ผู้ประกอบการด้านยาจึงมีความประสงค์เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้จำหน่ายยาให้โรงพยาบาลได้ทั่วประเทศ

“ต่อข้อกังวลเรื่องการจดสิทธิบัตรเร็วทำให้ยาโดยรวมของประเทศแพงขึ้นนั้น จึงไม่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีประสบการณ์ยาวนาน ตั้งแต่มีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็มีกลไกอย่างเข้มแข็ง ในการต่อรองราคา มีการตั้งคณะกรรมการต่อรองราคายา โดยสามารถต่อรองไม่ให้ราคาแพงจนเกินไปและอยู่ในระดับที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณได้ ซึ่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดซื้อวัคซีนเอชพีวี ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก เมื่อเข้าสู่ระบบต่อรองราคา จากราคาตลาด 2,166.75 บาทต่อเข็ม ลดราคาลงมาที่ 375.48 บาทต่อเข็ม ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 80 จากราคาตลาด และกลุ่มยาลดไขมันในเลือด เช่น ยาโลซูวาสสแตติน ชนิดเม็ด ขนาด 20 มิลลิกรัม จากราคาเม็ดละ 49.98 บาท เหลือเม็ดละ 21.40 บาท ซึ่งลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้”เลขาฯอย.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image