กรมอุทยานฯเปิดห้องแล็ปพิสูจน์ “ตรวจดีเอ็นเอช้าง” โปร่งใส

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช น.ส.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทำงานห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เพื่อติดตามกระบวนการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ทุกขั้นตอน พิสูจน์ความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นผลการตรวจรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ช้างบ้าน ตามคำสั่งมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอช้างบ้านทั่วประเทศกว่า 3,500 เชือก เพื่อตรวจหาอัตลักษณ์และที่มาของช้างแต่ละเชือก และจัดทำฐานข้อมูลด้านพันธุกรรม เพื่อแก้ปัญหาการสวมตั๋วรูปพรรณช้างป่าเป็นช้างบ้าน

น.ส.กณิตา กล่าวว่า งานด้านนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เริ่มต้นปฏิบัติงานเมื่อปี 2553 เป็นช่วงแรกของการพบการกระทำผิดอาชญากรรมด้านสัตว์ป่ารุนแรงมาก ทำให้กรมอุทยานฯตั้งหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์มารองรับ จากเดิมเก็บและตรวจตัวอย่างดีเอ็นเอ ส่งให้มหาวิทยาลัยที่น่าเชื่อถือตรวจ โดยมีตัวอย่างสัตว์ป่ามาตรวจสอบอัตลักษณ์ประมาณ 500 ตัวอย่างต่อปี

“แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการเก็บตัวอย่างก้าวกระโดดขึ้นกว่า 1,000 -3,000 ตัวอย่าง โดยเฉพาะปี 2560 มีคดีสัตว์ป่าเข้ามา 2 คดีใหญ่ คือ กรณีพิสูจน์เสือโคร่งของกลางวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี กว่า 150 ตัวอย่างเสือที่ยังมีชีวิต และลูกเสือดองในขวดอีก 40 ซาก และกรณีการเจาะเลือดช้างบ้าน 3,500 เชือก ที่เป็นครั้งแรกของประเทศที่ใช้เจาะเลือดเพื่อตรวจดีเอ็นเอ ช้างพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน นี้ โดยเฉพาะกรณีความสงสัยตรวจดีเอ็นเอของช้างบ้าน 2 เชือก คือช้างพลายทีจีและพลายเกาะพยาเพ็ชร ไม่ได้สร้างความกังวลต่อการทำงาน เชื่อว่า การตรวจของห้องแล๋ปมีความแม่นยำสูงและมีความรัดกุมโปร่งใสในทุกขั้นตอน โดยนิติวิทยาศาสตร์จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาประยุกต์ใช้ช่วยกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำเอาผู้กระทำผิดในคดีความมาลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งวัตถุพยานมีความสำคัญอย่างมาก”น.ส.กณิตา กล่าว

หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฯ กล่าวว่า ทั้งนี้การระบุอัตลักษณ์ด้วยเครื่องหมายสนิปส์ สามารถใช้ระบุอัตลักษณ์หรือความแตกต่างของช้างแต่ละตัวได้ ถือเป็นที่แรกและครั้งแรกของประเทศไทย จากนั้นจะทยอยทำครื่องหมายไมโครแซทเทิลไลน์ เพื่อหาความสัมพันธ์ พ่อ-แม่-ลูก โดยอ้างอิงจากทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ และเป็นเครื่องหมาย 13 ตำแหน่งที่ระบุการหาความสัมพันธ์ พ่อ-แม่-ลูก เพื่อให้ได้มาตรฐานเดียวกันและการเทียบข้อมูลจะเชื่อมโยงกันได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image