นวัตกรรมใหม่รักษา “โรคหืดรุนแรง” รพ.จุฬาฯทำได้ แห่งแรกในอาเซียน เตรียมผลักดันเข้าระบบ ให้ทุกคนเข้าถึง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกัน แถลงข่าว “รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่องกล้องรักษาโรคหืด แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย” โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.สมเกียรติ วงษ์ทิม นายกสมาคมองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาร่วม

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ แถลงว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประสบความสำเร็จในการนำนวัตกรรมใหม่ใช้ในการรักษาโรคหืดเรื้อรังขั้นรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการกินยาและฉีดยาได้เป็นเวลานานถึง 5 ปี ลดภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาผู้ป่วย

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า สถานการณ์โรคหืดในปัจจุบัน พบผู้ป่วยประมาณ 3-4 ล้านคน จาก ประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน โรงพยาบาล สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถรักษาโรคหืดได้ ไม่เฉพาะเพียงแห่งแรกในประเทศไทย แต่นับเป็นแห่งแรกใน อาเซียน

นพ.ธิติวัฒน์ กล่าวว่า นวัตกรรมใหม่นี้ เรียกว่า การจี้หลอดลมด้วยความร้อน ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหืด อาการขั้นรุนแรง การรักษาด้วยนวัตกรรมใหม่นี้จะรักษาคนไข้ที่อยู่ในอาการสลบ จากนั้นจะนำสายของเครื่องขนาดความกว้าง 2-3 มิลลิเมตร หย่อน ผ่านหลอดลมไปยังปอด ซึ่งเซ็นเซอร์จากสายดังกล่าวจะเปลี่ยนจากคลื่นวิทยุเป็นความร้อนที่ 65 องศา จากนั้นจี้เข้าไปยังหลอดลมส่วนปลายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อเรียบให้บางลงไม่ให้หลอดลมตีบ ระยะการใช้แต่จุดประมาณ 2 ชั่วโมง และเข้ารับการรักษาด้วยนวัตกรรมนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์

Advertisement

“จากการวิจัยในต่างประเทศพบว่า การจี้กล้ามเนื้อเรียบทำให้ลดการมานอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 70 และลดโอกาสกำเริบ 5 เท่า และสามารถควบคุมอาการกำเริบได้นานถึง 5 ปี ไม่มีผลข้างเคียง ปอดไม่ถูกทำลาย ขณะนี้มีผู้เข้ารับรักษาทั้งหมด 5 คน รักษาเสร็จแล้ว 2 คนและที่เหลืออยู่ระหว่างการเข้ารับรักษา การรักษานี้ คาดหวังให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการใช้ยาที่มีราคาแพงด้วย” นพ.ธิติวัฒน์ กล่าว

นางสุดสวงน สงวนแก้ว ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้ กล่าวว่า ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยนวัตกรรมดังกล่าว ตนมีอาการรุนแรงมาก ต้องใช้ยาในปริมาณมาก เกิดผลข้างเคียง ผมร่วง เวลา 8 ปีที่ ต้องจ่ายค่ารักษาสูงเกือบ 1 ล้านบาท แต่ภายหลังเข้ารับการรักษาแล้ว หายใจคล่องขึ้น มีอาการที่ดีขึ้นทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปมาก

เมื่อถามว่า ค่ารักษาพยาบาลสำหรับนวัตกรรมดังกล่าวประมาณเท่าใด นพ.ธิติวัฒน์ กล่าวว่า อยู่ที่ ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งครอบคลุมการรักษาทั้งหมด 3 ครั้ง ขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ แต่ในอนาคตทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะนำนวัตกรรมดังกล่าวเข้าระบบเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image