พล.ต.อ.เอก กระตุกผู้มีอำนาจ 3 ประการ แต่งตั้งนายพลตำรวจ

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงวุฒิ ได้เฟซบุ๊ก Aek Angsananont (พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์) ว่า

นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร แต่งตั้ง พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและข้าราชการตำรวจ

เปิดประวัติศาสตร์การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง ที่แต่งตั้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดั่งที่เคยเป็นธรรมเนียมในการปฏิบัติที่ดีงามมาโดยตลอด

ถอดบทเรียนจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อตำรวจอย่างมาก เกิดความเสียหายหลายประการ มีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาค้างคามาจนถึงทุกวันนี้

ADVERTISMENT

ในเดือนพฤศจิกายน จะต้องดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกสองช่วง

โดยช่วงแรกประมาณกลางเดือน จะเป็นการแต่งตั้งระดับ พลตำรวจโท-พลตำรวจเอก ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ยึดอาวุโสร้อยละ 100 สำหรับการเลื่อนตำแหน่งจากผู้บัญชาการเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และร้อยละ 50 สำหรับรองผู้บัญชาการเป็นผู้บัญชาการ

ส่วนช่วงปลายเดือนจะเป็นการแต่งตั้งระดับพลตำรวจตรี โดยใช้หลักอาวุโสร้อยละ 50

สิ่งสำคัญที่ผู้มีอำนาจและผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการแต่งตั้งทุกระดับต้องตระหนักมีดังนี้

ประการแรกบริบทและเจตนารมณ์กฎหมายต่างๆ ไม่ว่า บทบัญญัตติในกฏหมายรัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งตำรวจ 2567

“การแต่งตั้งตำรวจ ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม ให้คำนึงถึง อาวุโส ความรู้และความสามารถ กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งชัดเจนแน่นอน มิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบ ตำรวจต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด”

ประการที่สอง พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ(ก.พ.ค.ตร.) ขึ้นเป็นครั้งแรก
“ตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้ง สามารถร้องทุกข์ต่อคณะกรรมพิทักษ์คุณธรรมฯ คำวินิจฉัยเป็นที่สุด เพื่อพิทักษ์คุณธรรมและเป็นที่พึ่งของตำรวจ”

ประการสุดท้าย ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง หากไม่ได้ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์การแต่งตั้ง เป็นเหตุให้มีผู้ร้องทุกข์เกิดความเสียหาย
“ให้ถือว่าเป็นความผิดวินัย หรือผิดวินัยร้ายแรง ลงโทษได้โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวน
หรืออาจถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาฐานกระทำการต่างๆ โดยมิชอบ เกี่ยวกับการแต่งตั้งตำรวจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี”

ดังนั้นกระบวนการแต่งตั้งต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

เริ่มตั้งแต่การเสนอชื่อผู้ที่จะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น จากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดตามลำดับ
เริ่มจากสถานีตำรวจ กองกำกับการ กองบัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(กรณีที่เคยปรากฏ มีการสั่งการ (ตั๋ว) จากผู้บังคับบัญชาระดับสูงไปยังผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดให้เสนอรายชื่อคนที่สั่งลงไปจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย)

การพิจารณาของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ต้องเป็นการประชุมในรูปคณะกรรมการ ร่วมกับ รองหัวหน้าหน่วยทุกคน มีการบันทึกรายงานการประชุม ตามข้อเท็จจริง ประกอบเหตุผลอ้างอิงต่างๆ อย่างถูกต้อง

(กรณีที่เคยปรากฏ ผู้บังคับบัญชาจัดทำรายงานการประชุมโดยมิได้มีการประชุมจริง ให้ลงชื่อ หรือให้ลงชื่อในกระดาษแผ่นสุดท้ายโดยไปจัดทำรายงานการประชุมภายหลัง จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย)

ผมหวังการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่จะเกิดขึ้นทุกระดับ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
ข้าราชการตำรวจที่ดี มีความรู้ ความสามารถ จะได้เจริญก้าวหน้า มีขวัญและกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม อำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน สมกับคำว่า “ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน”