เปิดตัวเลขแพทย์ศัลยกรรมไทยเพียง 320 คน พบหญิงผ่าเป็นชายสูงขึ้น 20-30%

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่โรมแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ 18th ACPS2017 โดยมีศัลยแพทย์ตกแต่งนานาประเทศ เช่น บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น ตรุกี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น เข้าร่วม

รศ.นพ.ศิรชัย จินดารักษ์ นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวภายในงานเสวนา “สุดยอดนวัตกรรมด้านศัลยกรรมตกแต่ง จริง! หรือ ลวง! เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย” ว่า ปัจจุบันคลินิกศัลยกรรมเสริมความงามมีจำนวนมาก แต่ศัลยแพทย์ตกแต่งในประเทศไทยมีเพียงประมาณ 320 คนเท่านั้น แต่ละปีผลิตได้เพียง 20 กว่าคน การรับบริการศัลยกรรมเสริมความงามบางส่วน จึงไม่ได้ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความเชี่ยวชาญสาขาอื่น สามารถทำศัลยกรรมเสริมความงามได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้มีการห้ามว่าต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจึงสามารถทำได้ เนื่องจากพื้นฐานของประเทศไทยยังขาดแคลนแพทย์ หากกำหนดว่าแพทย์เชี่ยวชาญเท่านั้น

“จริงๆ แล้วการศัลยกรรมเสริมความงามก็ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คือ ศัลยแพทย์ตกแต่ง แต่จากการเปิดกว้างดังกล่าวทำให้แพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นก็สามารถทำได้ ดังนั้น ประชาชนต้องพิจารณาเลือกให้ดี ซึ่งหากเป็นเพียงศัลยกรรมเสริมความงามที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การตัดไฝ เป็นต้น ก็อาจทำโดยแพทย์ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญได้ แต่หากเป็นการทำศัลยกรรมที่มีการลงลึก เช่น มีการผ่าตัดใหญ่ การดูดไขมัน เป็นต้น ตรงนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะมีการเรียนมาโดยเฉพาะ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อใช้ทุนครบ 3 ปีก็จะเรียนต่อศัลยกรรมตกแต่งอีก 5 ปี หรือบางส่วนใช้ทุน 1 ปี ไปเรียนศัลยกรรมทั่วไป 4 ปี ก็จะมาเรียนต่อศัลยกรรมตกแต่งอีก 3 ปี” รศ.นพ.ศิรชัย กล่าว

รศ.นพ.ศิรชัย กล่าวว่า ขณะนี้แพทยสภาได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่า ศัลยกรรมเสริมความงามประเภทใดที่แพทย์สาขาอื่นสามารถทำได้ หรือประเภทใดที่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะพิจารณาจากความยากง่ายของการศัลยกรรมเสริมความงาม

Advertisement

นพ.สงวน คุณาพร ศัลยแพทย์ตกแต่งประจำโรงพยาบาลสิริโรจน์ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับจำนวนคลินิกศัลยกรรมเสริมความงามในไทยถือว่ามีมาก เริ่มจากออนไลน์ มีเอเจนซี มีแพคเกจ โดยใน กทม.มีระดับพันแห่ง ต่างจังหวัดหลายพันแห่ง แต่สังคมกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่มีศัลยแพทย์ตกแต่งเพียง 320 คนเท่านั้น

นพ.สุกิจ วรธำรง สมาชิกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการผ่าตัดแปลงเพศจากหญิงเป็นชายพบมากขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 เนื่องจากประชาชนมีความรับรู้และสังคมเปิดกว้างมากขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่พบจิตแพทย์ จนไปถึงการผ่าตัดจะใช้ระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นต้องให้ฮอร์โมนเพศชายต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อป้องกันปัญหาหญิงวัยทองที่มีกระดูกบาง โรคหัวใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการผ่าตัดจะใช้เนื้อหรืออวัยวะบริเวณท้องแขน หรือต้นขาของผู้ป่วยมาทำเป็นอวัยวะเพศ ขนาดจะใหญ่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเนื้อที่ทำ ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณ 5-6 นิ้ว มีบ้างที่หลังจากทำแล้วต้องกลับมาพบแพทย์เพื่อเพิ่มขนาดขึ้นไปอีก เนื่องจากเนื้อที่นำมาทำเกิดการหดตัว แต่พบไม่มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image