ทช.สำรวจเต่าทะเล พบลดจำนวนต่อเนื่อง สัตว์ทะเลหายาก กินขยะ เกยตื้นตายเฉลี่ยปีละ 200 ตัว

นส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทช. มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ดำเนินการสำรวจและประเมินสถานภาพทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเต่าทะเล แม้ว่าจะพบการแพร่กระจายของเต่าทะเลในประเทศไทยจำนวน 5 ชนิด แต่พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด ได้แก่ เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้า ซึ่งพบวางไข่เฉพาะชายหาดบนแผ่นดินใหญ่ของฝั่งตะวันตกของประเทศไทย สำหรับเต่าตนุ และเต่ากระ มักพบวางไข่บนชายหาดของเกาะต่าง ๆ ทั้งบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญมีเหลือเพียง 10 แห่ง โดยมีแหล่งวางไข่ใหญ่ที่สุดที่บริเวณหมู่เกาะคราม รองลงมาเป็นหมู่เกาะสิมิลัน เต่าทะเลวางไข่ทุก ๆ 1-3 ปี ในแต่ละฤดูกาลเต่าทะเลสามารถขึ้นวางไข่มากถึง 10 ครั้ง ทุก ๆ 12 วัน โดยวางไข่เฉลี่ย 100 ฟองต่อครั้ง สถิติการวางไข่ในปี พ.ศ. 2559 พบรวม 329 ครั้ง จำนวนพ่อแม่เต่าทะเลโดยประมาณ 354 ตัว เป็นเต่าตนุ 187 ตัว เต่ากระ 158 ตัว เต่าหญ้า 3 ตัว และเต่ามะเฟือง 8 ตัว ในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมฯ ดำเนินการร่วมกับกองทัพเรือ โดยทำการรวบรวมไข่เต่าตนุและเต่ากระจากพื้นที่เกาะครามมาอนุบาลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยฝั่งตะวันออก (เกาะมันใน) และปล่อยคืนธรรมชาติในลำดับต่อไป

นส.สุทธิลักษณ์ กล่าวว่า ด้านการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ทช.ได้ตั้งศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ บุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงบ่อพักฟื้น และรถช่วยชีวิต โดยกรมฯ ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น และหลักสูตรฝึกอบรมการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ให้กับเจ้าหน้าที่และเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2559 จัดการฝึกอบรมไปทั้งสิ้น 8 รุ่น มีผู้เข้าร่วมฯ จำนวน 293 คน และในปีงบประมาณ 2560 มีแผนการจัดฝึกอบรมอีก จำนวน 8 รุ่น ๆ ละ 35 คน นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมในระดับนานาชาติ โดยทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทัพเรือ จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เครือข่ายการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 7-13 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี

“แม้ว่าเต่าทะเลในประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 แต่สถิติการลดลงของเต่าทะเลก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีสาเหตุหลักจากการติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ ปัญหาการลักลอบเก็บไข่เต่า พื้นที่วางไข่และหากินของเต่าทะเลที่ลดลงจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง สถิติการวางไข่เต่าทะเลลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ส่วน ภายในระยะเวลา 60 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2559 พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,105 ตัว คิดเป็นค่าเฉลี่ยปีละ 190 บวกลบ 112 ตัว ในจำนวนนี้ประกอบด้วยเต่าทะเลถึงร้อยละ 57 ค่าเฉลี่ยการเกยตื้นต่อปีของเต่าทะเล 127 บวกลบ 75 ตัวต่อปี โดยในแต่ละปีมีแนวโน้มของการเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้นทั้งนี้เป็นเพราะการแจ้งข่าวสารการเกยตื้นที่สะดวกและความตระหนักในการรับรู้ของชุมชนชายฝั่งที่เพิ่มมากขึ้น สาเหตุของการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 74-89 เกิดจากเครื่องมือประมง โดยเฉพาะเครื่องมือประมงชายฝั่ง ได้แก่ อวนลอย ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง นอกจากนี้ ขยะทะเลนับเป็นสาเหตุของการเกยตื้นซึ่งมีแนวโน้มของปัญหาเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเฉลี่ยของเต่าทะเลที่กลืนขยะและเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหารมีร้อยละ 2-3 แต่หากนับจำนวนของการเกยตื้นที่มีขยะทะเลเกี่ยวพันภายนอก โดยเฉพาะขยะจำพวกอวน ซึ่งพบมากในเต่าทะเลจะมีเปอร์เซ็นต์การเกยตื้นจากสาเหตุขยะสูงถึง 20-40% “อธิบดีทช.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image