จี้ปฏิรูป “การแพทย์ฉุกเฉิน” เร่งแก้นิยามผู้ป่วยวิกฤต

กราฟิกมติชน

ภาคประชาสังคมจี้รัฐปฏิรูป”การแพทย์ฉุกเฉิน” เจอปัญหาอื้อ เครือข่ายผู้เสียหายเคยร้องปี”56 แต่ไร้ผล เดือดร้อน 1.4 พันราย เลขาฯสพฉ.แจงเร่งแก้คำนิยามผู้ป่วยวิกฤตสีแดง

ความคืบหน้ากรณี น.ส.วิมลทิพย์ เจริญสุวรรณชื่น ร้องเรียนขอความเป็นธรรมภายหลังมารดาซึ่งเจ็บป่วยฉุกเฉินและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล สวนทางกับนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ฟรีทุกที่ ดีทุกสิทธิ ห้ามเก็บเงินภายใน 72 ชั่วโมง แม้ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ช่วยเหลือและอยู่ระหว่างออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 เพื่อควบคุมการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยวิกฤตนั้น

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ปี 2555 รัฐบาลประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ไม่ต้องถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ หรือเป็นหน่วยงานกลางในการจ่ายให้ทั้งหมดก่อน และค่อยไปเบิกจากกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วย ต่อมาปี 2556 เริ่มมีคนไข้และญาติร้องเรียนมาที่เครือข่ายประมาน 10 ราย แม้จะเข้าเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตแต่พบว่าโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล ปัญหาที่พบคือ 1.ถูกเรียกมัดจำก่อนรักษา 2.เมื่อการรักษาสิ้นสุดให้ญาติจ่ายตามปกติหรือให้เซ็นรับสภาพหนี้ 3.หาโรงพยาบาลที่จะรับส่งต่อได้ยากมากล้วนบอกว่าเตียงเต็มทุกแห่ง 4.ให้ญาติสำรองจ่ายไปก่อน แต่กลับเบิกคืนได้ไม่ครบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ได้พาผู้เดือดร้อนไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยข้อมูลที่ผ่านมามีผู้ได้รับความเดือดร้อน 1,142 ราย ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจริงถึง 882 ราย แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ช่วยอะไรไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องฝากความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ว่าจะทำอย่างไรให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง โดยขณะนี้ สธ.บอกว่าจะมีกฎหมายมาควบคุม ก็หวังว่าจะออกมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม บังคับโรงพยาบาลเอกชนให้ทำตามกฎเกณฑ์ได้จริงๆ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จริงๆ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น หากตอนแรกเริ่มนโยบายนี้ไม่ใช้วิธีแบบสมัครใจ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งไม่ยอม

Advertisement

เข้าร่วม หนำซ้ำไม่แจ้งต่อญาติว่าไม่เข้าร่วมนโยบายนี้อีก ทำให้เกิดปัญหาเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลมาตลอด อย่างการแก้ปัญหาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่ากำลังเดินหน้าออกกฎกระทรวงนั้น ในเรื่องของตารางค่ารักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น มีปัญหามาก เพราะการจะกำหนดราคาให้ รพ.เอกชนพอใจเป็นเรื่องยาก ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายตอนนี้กำหนดได้แค่ไหน และ รพ.เอกชนยอมรับมากน้อยแค่ไหน อย่างไร เนื่องจากเมื่อมีข่าวลักษณะนี้ โรงพยาบาลเอกชน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก็จะนิ่งเงียบ แทนที่จะออกมาควบคุมโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันให้ทำตามกฎเกณฑ์ ส่วนใหญ่ก็จะปกป้องมากกว่า

“อยากให้ สธ.ออกมายืนยันชัดเจนว่ากฎกระทรวงออกมาแน่นอน ขอให้เปิดเผยเกณฑ์เหล่านี้ให้ประชาชนทราบด้วย อย่าลืมว่าปัญหายังคงมีอยู่ แต่แค่ไม่เป็นข่าวเท่านั้น เพราะยังมีหลายโรงพยาบาลที่ไม่ยอมให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลหากไม่เสียค่ารักษา หรือแม้เสียชีวิต เป็นศพ ยังไม่ยอมให้ออกก็มี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคดีอาญา” นายนิมิตร์กล่าว

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลคำนึงเรื่องนี้ดีๆ อย่างกฎกระทรวงที่จะออกมาตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ รวมทั้ง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะเรื่องตารางค่ารักษาทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วยวิกฤตนั้น หากจะทำเป็นราคารวมของโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง

อาจมีปัญหาอีกในอนาคต ทางที่ดีควรแยกเป็นตารางค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละระดับดีกว่า เช่น ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง เป็นต้น รวมทั้งนิยามของคำว่าวิกฤตฉุกเฉินก็ต้องชัดเจนว่าเป็นวิกฤตสีแดง เป็นอย่างไร เช่น หัวใจหยุดเต้น หายใจติดขัด ฯลฯ โดยต้องทำความเข้าใจทั้งแพทย์และประชาชน ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเข้าใจแต่แพทย์เท่านั้น สุดท้ายประชาชนเข้าใจว่าเจ็บป่วยวิกฤตเป็นอีกแบบ ก็เกิดปัญหาในการรับบริการอีก

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการนโยบายเรื่อง เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตดีทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ 72 ชั่วโมงนั้น พบว่าปัญหาที่ผ่านมา ยังมีข้อร้องเรียนเรื่องโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บเงินค่ารักษา ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจคำนิยาม เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งในนโยบายระบุชัดว่าหากเป็นวิกฤตสีแดง โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน แม้จะไม่ได้อยู่ตามสิทธิของผู้ป่วยก็ต้องไม่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลใน 72 ชั่วโมง และเมื่อพ้นวิกฤตต้องส่งออกไปยังโรงพยาบาลตามสิทธินั้น แต่ที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันมาก เพราะคำว่าฉุกเฉินของแพทย์และคนไข้ เข้าใจไม่เหมือนกัน เช่น อาการปวดท้องมากๆ คนไข้อาจคิดว่าอันตรายฉุกเฉิน ก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะเข้าใจว่าไม่เสียเงิน แต่เมื่อแพทย์ตรวจออกมาแล้วปรากฏว่าไม่วิกฤต ก็ต้องเสียเงิน เมื่อไม่เข้าใจก็เกิดประเด็นร้องเรียน

“ที่ผ่านมามี 2 ทางเลือก เมื่อสุดท้ายแพทย์วินิจฉัยว่าไม่วิกฤตสีแดง คือ ย้ายไปรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ และยอมจ่ายเงินและรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนต่อ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเข้าใจปัญหา ขณะนี้ก็จะมีการนำมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้คำนิยามว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดง เข้าใจทั้งแพทย์และคนไข้ เพราะที่ผ่านมาใช้ศัพท์เทคนิคมาก เพราะต้องให้แพทย์เข้าใจอย่างละเอียด เช่น ค่าออกซิเจนต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น การเปิดเผยเพื่อให้คนไข้ทราบอาจทำให้ไม่เข้าใจ แต่เรื่องนี้ก็จะนำมาพิจารณาหาทางออกว่าจะทำอย่างไรต่อไป” ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว และว่า ปัจจุบัน สธ.อยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ ตั้งเป้าว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนเมษายนนี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ล่าสุดคณะกรรมการสถานพยาบาลประชุมหารือร่างกฎกระทรวงเสร็จแล้ว โดยเฉพาะร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับอัตรา

ค่ารักษากรณีเจ็บป่วยวิกฤต เหลือรอเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ. พิจารณาลงนาม และจะเสนอ ครม.พิจารณาเรื่องกระบวนการตามจ่ายเงิน หรือเคลียริ่งเฮ้าส์ หากทำสำเร็จจะถือเป็นอันแรกที่ประชาชนได้สิทธิเท่าเทียมสุดในระบบสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image