เขื่อนเจ้าพระยายัน ยังไม่มีแผนระบายน้ำเพื่อการเกษตร แค่ผลักดันน้ำเค็มรุกกรุงเทพฯ

DCIM101MEDIADJI_0025.JPG

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังขยายวงกว้างในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่กรมชลประทานจะต้องสงวนน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้เพื่อการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ทำให้จะยังคงงดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป โดยล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับลดการระบายน้ำลงจาก 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงมาเหลือ 75 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เพื่อใช้ในการผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำที่กำลังรุกคืบขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำประปาเค็มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และปทุมธานี โดยเขื่อนเจ้าพระยาจะยังไม่มีแผนการปรับเพิ่มการระบายน้ำในระยะนี้ จึงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรไม่ควรทำนาปรังเพิ่มเติมเพราะจะเสียหายจากภาวะภัยแล้ง โดยตรวจสอบวันนี้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 14.31 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และท้ายเขื่อนอยู่ที่ 5.96 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

DCIM101MEDIADJI_0036.JPG

โดยจากที่ผู้สื่อข่าวได้นำอากาศยานไร้คนขับขึ้นบินสำรวจเหนือคลองบ้านกล้วย ต.บ้านกล้วย อ.เมืองชัยนาท ทำให้เห็นสภาพคลองที่กำลังแห้งขอด ดินแตกระแหงเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร ทั้งนี้สืบเนื่องจากคลองแห่งนี้ไม่มีน้ำส่งเข้ามากว่า 3 เดือน ประกอบกับไม่มีฝนตกมากว่า 4 เดือนแล้ว ขณะที่ยังมีชาวนาส่วนหนึ่งที่ฝ่าฝืนประกาศขอความร่วมมืองดทำนาปรังของรัฐบาล ลงมือปลูกข้าวต่อเนื่องกว่า 1,000 ไร่ ที่ต่างแย่งกันสูบน้ำในคลองแห่งนี้ไปเลี้ยงต้นข้าว ทำให้น้ำในคลองแห้งลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งข้าวจำนวนกว่า 1,000 ไร่ที่ตั้งท้องออกรวงกำลังได้รับความเสียหาย จากที่ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะไปเลี้ยงต้นข้าว โดยชาวนาหลายๆ รายเริ่มถอดใจที่จะปล่อยทิ้งให้ข้าวในนาบางส่วนแห้งตายไป เพราะไม่มีทุนพอที่จะจ้างช่างมาเจาะบ่อบาดาล ที่ปัจจุบันค่าจ้างแพงถึงบ่อละกว่า 10,000 บาท อีกทั้งเมื่อเจาะบ่อบาดาลแล้วยังต้องหาเงินมาซื้อน้ำมันเพื่อสูบน้ำเข้านาเลี้ยงต้นข้าวอีก ซึ่งเป็นภาระหนักและเสี่ยงขาดทุน จึงจำยอมทิ้งนาข้าวบางส่วนด้วยความจำใจ

DCIM101MEDIADJI_0038.JPG

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image