กสม.ลงพื้นที่สตูล สำรวจคุณภาพชีวิตชาวมันนิ(ซาไก) ย้ำคุ้มครองศักดิ์ศรีทุกกลุ่มชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดสตูล เพื่อตรวจสอบที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสถานะบุคคลให้แก่ชนเผ่ามันนิ ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เนื่องจากไม่มีสถานะทางทะเบียนและไม่ได้สิทธิสวัสดิการจากภาครัฐ โดยคณะได้ลงพื้นที่ ตรวจสอบ 2 จุด จุดแรกคือบริเวณ บ้านควนดินดำ หมู่ที่ 9 ต.ปาล์มพัฒนา อ.มะนัง ใกล้กับถ้ำภูผาเพชรซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

จุดที่สองคือที่บ้านวังนาใน หมู่ที่ 10 ต.น้ำผุด อ.ละงู ใกล้กับบริเวณจุดล่องแก่งวังสายทอง บริเวณเทือกเขาบรรทัด เขตรอยต่อจังหวัดสตูลและพัทลุง ซึ่งพบว่าทั้งสองจุด ชนเผ่ามันนิอาศัยอยู่ในทับ ลักษณะคล้ายเพิงพักหลังเล็กๆเป็นที่หลับนอน หลังคามุงด้วยทางมะพร้าว ตั้งอยู่เรียงรายแต่ละหลังห่างกันไม่มากนักมีทางเดินเล็กๆที่ชนเผ่าสามารถเดินทางลงจากภูเขาเพื่อติดต่อกับชาวบ้านหรือสังคมภายนอกได้ โดยจุดแรกมีชนเผ่ามันนิอยู่จำนวน 26 คน มีพ่อเฒ่าแดงเป็นหัวหน้ากลุ่ม จุดที่สองมีจำนวน 43 คน มี มีนายไข่ ศรีมะนัง เป็นหัวหน้ากลุ่ม

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่โดยพูดคุยกับชนเผ่ามันนิทราบว่า ประสบปัญหาถูกไล่ที่จากชาวบ้านที่อ้างสิทธิ์ในผืนป่า จึงไม่มีถิ่นฐานแน่นอน และประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน บางส่วนต้องลงมาทำงานหารายได้ในสถานประกอบการในพื้นที่ อ.มะนัง และ อ.ละงู ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบกิจการล่องแก่งและบริการนักท่องเที่ยว

201703131114144-20150518130435

Advertisement

จากนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ณ ป๋านึงล่องแก่งรีสอร์ต เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของชนเผ่ามันนิ โดยเฉพาะด้านอาหาร คุณภาพชีวิต และสวัสดิการต่างๆ โดยพบว่าชนเผ่ามันนิอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล ประมาณ 130 คน คือ อ.มะนัง อ.ละงู อ.ควนกาหลง และ อ.ทุ่งหว้า ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ถูกไล่ที่จากชาวบ้านและไม่สามารถทำการปลูกพืชไว้บริโภคได้ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาด้านสุขภาพอนามัย เนื่องจากมีทารก บางรายเสียชีวิตระหว่างคลอด สำหรับการทำบัตรประชาชนให้แก่ชนเผ่ามันนินั้น ที่ว่าการอำเภอมะนัง ได้ดำเนินการทำบัตรประชาชนไปแล้ว จำนวน 22 คน เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ชนเผ่ามันนิบางส่วนไม่ได้ทำ เพราะไม่ทราบถึงสิทธิและประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต สมาชิกชนเผ่าส่วนใหญ่บอกว่าขอให้หัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ตัดสินใจแทน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจสอบชนเผ่ามันนิในครั้งนี้ เนื่องจากปี 2560 ประเทศไทยจะต้องรายงานครบรอบ 10 ปี ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะมีการประชุมที่นิวยอร์ค ปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจให้สหประชาชาติได้เข้าใจถึงภาพรวมในเรื่องนี้ด้วย ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือร้องเรียนว่าพี่น้องมันนิ ไม่มีสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทั้งๆที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย บริเวณเทือกเขาบรรทัดเขตรอยต่อจังหวัดตรัง สตูล และพัทลุง มาอย่างยาวนาน เป็นผลให้คุณภาพชีวิตเรื่องอื่นๆ เช่นสิทธิสวัสดิการสังคม การรักษาพยาบาล

201703131114142-20150518130435

Advertisement

อย่างไรก็ตามหลังจากลงพื้นที่ในครั้งนี้ ก็จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาดูว่าการช่วยเหลือแบบบูรณการระดับพื้นที่ สามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง และต้องการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างไร คิดว่านโยบายที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆประเทศไทย เรายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน มีแต่มติคณะรัฐมนตรีคือเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เมื่อเดินมิถุนายนปี 2553 และการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2553 นอกนั้นโดยภาพรวมของนโยบายที่จะคุ้มครอง ส่งเสริม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆยังไม่ชัดเจน ก็คิดว่าน่าจะเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาลก่อน

201703131114141-20150518130435

201703131114145-20150518130435

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image