‘ดร.สุเมธ’ แนะผู้สูงวัยน้อมนำพระราชดำรัส ‘ในหลวงร.9’ เผยพรพระราชทานสุดท้าย ‘งานยังไม่เสร็จ’

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ 16 องค์กรของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฯลฯ จัดการประชุมวิชาการประจำปีที่ประชุมผู้บริหารองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ(ทอพ.) “ประชารัฐร่วมใจ สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ” โดยได้รับเกียรติจากดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า น้อมพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง”

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาระดับชาติยังไม่รู้ตัวในเรื่องการรองรับผู้สูงอายุ การเตรียมการจึงไม่สมบูรณ์ แต่งานวันนี้ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง ตัวเลขน่าตกใจ จำนวนผู้สูงอายุสูงมาก อายุยืน เกิดน้อย ซึ่งในหลายๆประเทศมีการเปลี่ยนแปลงความคิด อย่างสิงคโปร์ จากคุมกำเนิด ให้มีลูกเพิ่มขึ้น ถึงขนาดให้คู่หญิงชายลงเรือด้วยกัน เผื่อเกิดความรักกัน แต่สุดท้ายกลับไปคุยเรื่องการค้า ก็ขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ใน 4-5 ปีตนได้รับเชิญมาบรรยายเรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มีคนถามว่าเตรียมตัวอย่างไร ตนก็ทำเหมือนคนอื่นๆ แต่ทุกครั้งที่มีระยะเวลาว่างสักเดือนกว่า ก็จะบวช เพื่อพักผ่อนทางจิต เพราะกายกับจิต สัมพันธ์กันอย่างสิ้นเชิง อย่างสุขภาพก็ดีขึ้น ปลอดโรคภัย ทุกครั้งที่มีโอกาสตนก็จะเอาจิตไปพัก ร่วมกับการออกกำลังกายด้วยทุกวัน รับประทานอาหารแบบธรรมดา อย่างข้าวเหนียว ผัก ฯลฯ ซึ่งเมื่อตรวจร่างกายก็พบว่า สุขภาพดี คอเลสเตอรอลไม่สูง น้ำหนักตนยังลดไป 5 กิโลกรัม และก็คงที่

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ผู้สูงอายุจึงควรมีสติ และพิจารณาทุกครั้ง ไม่ว่าจะกินอาหาร อย่างผมตื่นเช้ามาก ตี 3 ตี4 ก็ตื่นแล้ว ช่วง 6 โมงเช้าก็จะกินข้าวเช้า เราต้องคำนวณหมดว่าจะกินอะไร อย่างไร อย่างเศรษฐกิจพอเพียง มีคำว่าเหตุผล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสว่า ต้องใช้เหตุผลในการนำทาง เหตุผลคือ ศีล สมาธิ และปัญญา สุดท้ายการมอง การพิจารณาก็จะเกิดขึ้นโดยใช้ปัญญา หากเราดำเนินชีวิตแบบนี้ก็จะเกิดการพอเพียง เหมือนการกิน หากกินมากก็แน่น ไม่กินก็หิว ก็ต้องรู้จักความพอดี แต่ก่อนตนมีชีวิตโลดโผนมาก แต่ตอนนี้อายุ 78 ปีชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยน หากมองย้อนกลับไป 70 ปี พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เวลาเกินมนุษย์ทั่วไปมาก อย่าง 8 เดือนอยู่นอกกรุงเทพฯ โดยเสด็จไปสถานที่ต่างๆ ไปพื้นที่ทุรกันดาร พื้นที่ห่างไกล จนพระองค์ต้องเข้ารักษาตัว เพราะพระองค์ใช้พระวรกายมาก เมื่อกราบบังทูลเตือน พระองค์ท่านตรัสว่า ไม่ เพราะงานยังไม่เสร็จ

“ตอนผมอายุ 72 ปี ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานพร ซึ่งพระองค์ตรัสว่า ขอให้มีร่างกายแข็งแรง เพื่อทำประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการให้โดยไม่หวังผล อย่างที่บอกว่าทำดีแบบปิดทองหลังพระนั้น จริงๆ ไม่ใช่หรอก ทำดี ทำเพื่อสังคม มีคนเห็นอยู่แล้ว อย่างผมไปรักษาตัว ไปผ่าตัดหัวใจรพ.เอกชน ไม่คิดเงินผมเลย หมอบอกว่า เห็นในหลวง ร.9 ทำงานหนัก อยากทำอะไรบ้าง จึงทำผ่านผม ผมถามว่าจะเอาเงินตรงไหน หมอบอกมีกองทุน ผมก็ถามว่ากองทุนอะไร หมอบอกกองทุนพระ เค้าจำแนกผมเป็นพระ สรุปคือ การทำดี ก็เป็นการสะสมไปเรื่อยๆ ปิดทองหลังพระจึงไม่จริงหรอก ต้องมีคนที่เห็นเรา นอกจากนี้ ตอนผมอายุ 60 ปี ได้เข้าเฝ้าฯ และขอพระราชทานพร ก็หลุดปากว่า ปีนี้เกษียณแล้วพระเจ้าค่ะ ก็รู้สึกว่าทรงมีพระอารมณ์ และตรัสว่า “เกษียณหรอ แล้วฉันหละ” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีคำว่าเกษียณหลุดจากปากผมเลย ผมทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ไม่มีวันปีใหม่ วันหยุดอะไร มีแค่วันจันทร์ อังคาร ไปจนถึงอาทิตย์ นอกจากถ้าทำงานไม่ไหว ร่างกายก็จะหยุดเอง เพราะต้องเข้าโรงซ่อม” ดร.สุเมธ กล่าว

Advertisement

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า อีกอย่างคือ เราต้องระลึกถึงมรณสติ มองเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดา กระทั่งเกิดการปลงต่อชีวิต คนทุกคนตายได้ ความตายเท่าเทียมกันหมดทุกคน นายพล ทหาร ตายได้หมด เรียกว่า นิ่งต่อความตาย ซึ่งมีคุณหมอท่านหนึ่ง นพ.วิรัช มรรคดวงแก้ว อายุ 90 กว่าปี เคยไปคุยกัน ท่านบอกว่า ให้เราอยู่อย่างสง่า ตายอย่างสงบ ซึ่งลึกซึ้งมาก คำว่าสง่างาม หมายถึง ทุกอย่างต้องช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งมีพฤติกรรมที่ดีที่สง่า น่าเคารพ และเมื่อตายก็ต้องไปอย่างสงบ ปลงให้ตก อย่าห่วงอะไรมาก เพราะสุดท้ายตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ คนเคยเป็นข้าราชการซี 22 เป็นคนเดียวในประเทศไทย. คือเป็นเลขาสภาพัฒน์ฯ และสำนักงานคณะ กรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีตำแหน่งเป็นซี 11 ถึง 2 แห่ง รวมกันเป็นซี 22 แต่พอตนอายุ 60 ปี ซีต่างๆ หายหมด กลับกลายเป็นซีโร ถือเป็นสัจธรรมจริงๆ

ดังนั้น หยุดตะเกียดตะกาย อย่าไปวิ่งหาตำแหน่งเลย เพราะเรื่องนี้แปลก ยิ่งวิ่งหนีก็จะยิ่งมา เวลาเราอยากได้ตำแหน่ง ไม่ค่อยมาหรอก แต่ปลงเมื่อไรก็จะมาเอง อย่างได้เครื่องราชย์ฯ สุดท้ายเมื่อตายก็ต้องส่งคืนหมด ถ้าหายต้องจ่ายคืน เกียรติยศสะสมไว้แค่ไหนต้องส่งคืน มีอย่างเดียวที่ไม่ต้องส่งคืน คือ ความเป็นตัวตนของเราว่า ประกอบคุณงามความดีไว้แค่ไหน หากทำดีก็จะได้รับการเอ่ยถึง แต่หากตัวตนเราประกอบความชั่ว จากไปแล้วก็ถูกด่าทอ เราจากไปแล้ว ลูกหลานก็ได้ยิน กรรมมี ก็เลือกเอาเอง

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า สรุปภาวะจิตเป็นสิ่งสำคัญ ขอให้มีอารมณ์ขัน ให้คิดเป็นเรื่องสนุก พระเจ้าอยู่หัวฯ ตรัสว่า ทำงานต้องสนุก จะได้ไม่เบื่อ วันหนึ่งท่านรับสั่งว่า ร่าเริง รื่นเริง คึกคัก คึกคื้น เป็นปัจจัยที่ต้องมีในการทำงาน บางคนทำงานเครียดมาก ทำไมต้องเครียดก็บอกว่า กังวลว่าจะหาเอาแต่เล่น แต่ถ้าหน้าตาเครียด ก็เครียดไปหมด แล้วบรรยากาศน่าทำงานหรืออย่างไร ดังนั้น ร่าเริง รื่นเริง อันหนึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว อีกอันเป็นเรื่องของกลุ่ม อย่างร่าเริง ตัวเราต้องร่าเริงตลอดเวลา หากเดินหงอยเข้าออฟฟิส ก็หงอยไปหมด เวลาเข้าไปที่ไหนก็ต้องให้บรรยากาศบริเวณนั้นรื่นเริงด้วย คึกคัก คืกคื้น ก็เช่นกัน อย่างเรื่องไปตบหน้าบ๋อย เพราะถูกเรียกว่าป๋า ถามว่าไปโกรธทำไม เขาเรียกเราว่าพ่อ ต้องโกรธหรือ และมารู้ว่าดำรงตำแหน่งสำคัญด้วย ต้องถามว่า ทศพิธราชธรรม จำได้มั้ย คงจำไม่ได้ เวลาโกรธเสียหายหมด ที่สะสมมา จบหมด ตนก็เคยมีอารมณ์เหมือนกัน แต่คนละอย่าง ตนไปนั่งเครื่องบิน มีผู้หญิงคนหนึ่งลุกให้นั่ง และบอกว่า ลุงๆนั่งเถอด จังหวะแรกก็โกรธนะ ว่า ตนแก่หรือ แต่เราก็ต้องยอมรับ จึงบอกกลับว่า ขอบใจนะหนู ลุงยังไหวอยู่ ดังนั้น ทศพิธราชธรรม ผู้สูงอายุควรทำด้วย

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ทศพิธราชธรรม โดยเฉพาะข้อสุดท้าย ดำรงอยู่ในความถูกต้องเสมอ ไม่ใช่แค่ผิดหรือถูกในเรื่องกฎหมายเท่านั้น เพราะบางอย่างอ้างว่าถูกกฎหมาย แต่เจตนาเลวสุดก็ไม่ถูกต้อง ต้องดูเจตนา มีเหตุการณ์หลายอย่างถูกกฎหมาย แต่ผิดจรรยาบรรณอย่างแรง ดังนั้น ต้องรักษาธรรมะ ในหลวง ร.9 ตรัสว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม พระองค์อธิบายว่า ธรรมะคือ ความดีและถูกต้อง ต้องทำควบคู่กัน ความถูกต้องหลายอย่างไม่ดี อย่างสี่แยกไฟแดงมีเด็กขายพวงมาลัย เกิดความเมตตาซื้อ แต่ถามว่าถูกต้องหรือไม่ จึงต้องจำว่า การกระทำทุกครั้งต้องตรวจสอบว่า เป็นธรรมหรือไม่ คือ เป็นเรื่องของการทำดีและต้องถูกต้องด้วย

“จึงขอสรุปว่าสิ่งที่ผู้สูงอายุควรทำ คือ รักษากายไว้ เงินทองไม่ได้ช่วยอะไรหรอก เลิกฝันเลิกคิดสิ่งที่จับต้องอย่างเดียว ให้พอเพียงดีกว่า เหมือนข้าวของในบ้านเรา 70 เปอร์เซนต์เราไม่ได้ใช้หรอก และ เรื่องจิตสำคัญ จิตต้องโปร่งใส อย่าสร้างความขุ่นมัวให้ตัวเอง ความโกรธ ความอยากเราสร้างขึ้นเอง ต้องคำนึงไว้ว่า เวลาอยู่ในโลกมันสั้น อย่าเสียเวลาเลย และอย่าอยู่คนเดียว พยายามอยู่คนเดียวให้น้อยที่สุด และอย่าพัก อย่างเคยขอพระราชทานพรว่า วันนี้72 ปีแล้วพระเจ้าค่ะ พระองค์ฯตรัสว่า ฉัน 84 ปี ผมก็ก้มลงกราบ และรู้สึกว่าพระหัตถ์พระองค์จับที่บ่า และทรงตรัสว่า “สุเมธ งานยังไม่เสร็จ” ตรัสถึง 3 หน ตอนนั้นพระองค์ประทับที่รพ.ศิริราช ขณะนั้นผมก็ไม่ได้ทราบหรอก แต่มาขณะนี้ เรียกว่า พระองค์รับสั่งครั้งสุดท้ายกับผม เป็นพรครั้งสุดท้ายว่า งานยังไม่เสร็จ และผมก็ระลึกมาตลอด” ดร.สุเมธกล่าวและว่า ดังนั้น เมื่อเกษียณแล้ว จงรักษาความธรรมดาไว้ ไม่ต้องวีไอพีหรอก จะเป็นวีไอผีอยู่แล้ว ขอให้คำนึงว่า ประโยชน์สุข หากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ สุดท้ายเราก็จะได้ความสุขกลับมา ทั้งตัวเราและคนรอบๆตัว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image