นักวิจัยชี้ท้าดวล’เหล้า’เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน เหตุรับสารเกินขนาด

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของหนุ่มใหญ่ จ.สกลนคร ที่ท้าดวลดื่มเหล้ากับเพื่อนจนกระทั่งเสียชีวิต รวมถึง
คลิปวัยรุ่นดื่มเหล้าจนหมดขวดในเวลารวดเร็วซึ่งอยู่ในกระแสโลกโซเชียล ว่า เครื่องดื่มประเภทเหล้า เบียร์ ไวน์ จัดเป็นเครื่องดื่มที่ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง โดยแอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กับตัวรับของสารสื่อประสาทในสมองชื่อกาบา (GABA) ทำให้แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์คล้ายยากดประสาท เช่น เหล้า 1 ขวด จะมีแอลกอฮอล์เทียบเท่าประมาณ 20 หน่วยดื่มมาตรฐาน (ดริงก์) ทำให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเวลาอันรวดเร็ว เสี่ยงต่อการสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิตหากได้รับสารเกินขนาด

“ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ให้การรับรองว่าดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณเท่าใดจึงปลอดภัย แต่การดื่มเป็นปัจจัยก่ออุบัติเหตุ และนำไปสู่การติดแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มดื่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น” ผศ.พญ.รัศมนกล่าว

ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า การดื่มทีเดียวหมดขวด สุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะช่วงที่อุณหภูมิสูง อากาศร้อนอบอ้าว ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเท่าตัว จึงไม่อยากให้สังคมมองเป็นเรื่องปกติ และว่าการชักชวนให้ดื่มยังเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image