ดูแลสุขภาพชาวมอแกน ภารกิจศูนย์สาธารณสุขฯ อ่าวบอน

กราฟิกมติชน

บริเวณอ่าวบอน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เป็นอีกพื้นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวมอแกน ที่เดิมได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ และในปี 2549 มูลนิธิชัยพัฒนา-กาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานมูลนิธิจัดสร้างบ้านเรือนให้ชาวมอแกนได้มีที่อยู่อาศัยอีกครั้ง

ปัจจุบันประชากรชาวมอแกนอ่าวบอน มีจำนวน 78 หลังคาเรือน 329 คน ส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุวัน เดือน ปีเกิด ของตนเองได้ หลายคนยังไร้สถานะและสิทธิ แต่ด้วยหลักมนุษยธรรมจำเป็นต้องให้พวกเขาได้เข้าถึงระบบสาธารณสุขมูลฐาน เนื่องจากเมื่ออยู่รวมกันเป็นชุมชน และวิถีชีวิตของชาวมอแกนที่นิยมเผาถ่านใช้เอง ย่อมส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2560 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พังงา นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่อ่าวบอน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โรงพยาบาล (รพ.) คุระบุรีชัยพัฒน์ ในการให้บริการชุมชนชาวมอแกน ซึ่งได้เริ่มออกดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 และโรคที่พบบ่อยตั้งแต่ปี 2549-2550 คือฟันผุ ระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง หนอนพยาธิในลำไส้ และวัณโรค

นพ.เกียรติภูมิเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2551 ได้มีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพชาวมอแกนมากขึ้น ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ปีละ 1-2 ครั้ง แล้วแต่กรณี กระทั่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พังงา ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒน์ จัดหาผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาประจำศูนย์สาธารณสุขมูลฐานอ่าวบอน โดยปฏิบัติงานประจำเพื่อดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ชาวมอแกน คือนางกนกวรรณ ซุยยัง เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังโรคที่ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานอ่าวบอน พบว่าประชากรชาวมอแกนจำนวน 329 คน เป็นชาย 145 คน หญิง 184 คน เป็นเด็กต่ำกว่า 5 ปี 38 คน หญิงวัยเจริญพันธุ์ 93 คน (แต่งงานแล้ว 80) ผู้สูงอายุ 15 คน นักเรียน 84 คน ครู 3 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 6 คน ผู้พิการ 2 คน

Advertisement

โดยพบว่า จากการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตเด็ก 0-5 ปี จำนวน 38 คน พบรูปร่างสมส่วน ร้อยละ 86.8 ค่อนข้างผอม ร้อยละ 7.9 และอ้วน ร้อยละ 5.3 ตรวจสุขภาพนักเรียน 52 คน สมส่วน ร้อยละ 94.2 ค่อนข้างผอม ร้อยละ 5.8 อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจอุจจาระ 73 คน พยาธิในลำไส้ ร้อยละ 43.8 พยาธิแส้ม้า ร้อยละ 27.4 พยาธิไส้เดือน ร้อยละ 15.1 พยาธิปากขอ ร้อยละ 1.4 และให้ยาพยาธิแก่นักเรียนและทุกวัย จำนวน 40 คน ซึ่งจำแนกเป็น 5 อันดับ คือ โรคไข้หวัด ถ่ายเหลว ปวดแน่นท้อง ปวดเมื่อยตัว และผิวหนังอักเสบ

“อ่าวบอนเป็นพื้นที่ห่างไกลจากฝั่ง ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางด้วยเรือทั่วไปถึง 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากชาวบ้านเจ็บป่วยขึ้นมา การเดินทางไปรักษาจะเป็นอุปสรรคมาก กระทรวงสาธารณสุข สสจ.พังงา จังหวัดพังงา ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดตั้งศูนย์สาธารณสุขฯขึ้น เพื่อดูแลสุขภาพพื้นฐานแก่ชาวบ้านทุกคน หากมีอาการป่วยรุนแรงก็จะมีการประสานในการนำเรือมารับไปรักษาต่อที่ชายฝั่ง ขณะเดียวกัน สสจ.ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อมาดูแลตลอดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งโรคส่วนใหญ่ที่พบยังเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และพยาธิลำไส้ ซึ่งก็ต้องให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพควบเพื่อป้องกันโรค โดยให้ความรู้ด้านสุขาภิบาล การบริโภค ความสะอาดต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้การดูแลเรื่องอนามัยแม่และเด็ก มีการตรวจครรภ์ การส่งคลอด และการให้วัคซีนพื้นฐานแก่เด็กทุกคน” รองปลัด สธ.กล่าว

นางกนกวรรณ ซุยยัง
นางกนกวรรณ ซุยยัง

นางกนกวรรณ ซุยยัง หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า “ป้าหนุ่ย” ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อายุ 50 ปี บอกว่า ทำงานอยู่ที่อ่าวบอนมา 8-9 ปี เริ่มแรกเคยมาที่นี่และรู้สึกเห็นใจชาวมอแกน เพราะแม้พวกเขาจะปรับตัวอยู่ที่เกาะได้ แต่การใช้ชีวิตก็ยังไม่ถูกสุขลักษณะมากนัก ทั้งการเผาถ่าน การนั่งกับพื้นดิน เปื้อนดินไปหมด หลายครั้งดินติดซอกเล็บ และไปทำอาหารต่อก็มี หรือแม้แต่การเข้าห้องน้ำ ก็ไม่ถูกสุขลักษณะ กระทั่งได้รับการคัดเลือกไปฝึกอบรม ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 6 เดือน และสำเร็จการศึกษาการอบรม จากนั้นก็เริ่มทำงานในช่วงปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

“แรกๆ มาอยู่ที่นี่ก็กลัวนะ เพราะต้องมานอนมาอาศัยอยู่กับชาวมอแกนเลย ซึ่งแม้พวกเขาจะฟังและพอพูดภาษาไทยได้บ้าง แต่ปัญหาการสื่อสารช่วงแรกๆ ลำบาก ต้องค่อยๆ ปรับตัว อย่างต้องคอยไปเยี่ยมบ้านทุกหลัง คอยพูดคุยจนพวกเขาไว้ใจ เพราะต้องเข้าใจว่าชาวมอแกนมีความเชื่อ มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง พวกเขาไม่เชื่อเรื่องทางการแพทย์ เราก็ต้องใช้เวลาในการแนะนำไป หลังๆ ก็ดีขึ้น ทุกวันนี้หลายคนไม่สบายก็เริ่มมาหาเรา ส่วนใหญ่จะเป็นโรคทางเดินหายใจ และยังเป็นพยาธิไส้เดือน ซึ่งแผนการดูแลด้านสาธารณสุข สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้พวกเขาหายจากโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะพวกเขายังเผาถ่าน เพื่อนำมาใช้หุงต้ม ทำให้ไอและเป็นโรคหอบหืด นอกจากนี้ พยาธิไส้เดือนก็ยังพบ แม้ทุกวันนี้จะดีขึ้นพบร้อยละ 14 จากอดีตพบกว่าร้อยละ 50” นางกนกวรรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระบบสาธารณสุขมูลฐานเริ่มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำอุปโภคบริโภค แม้จะมีน้ำจากภูเขาไหลมาให้ดื่มกิน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ให้ความรู้ว่าจำเป็นต้องต้ม ก่อนนำมาใช้อุปโภคบริโภค ก่อนรับประทานอาหารต้องล้างมือก่อนทุกครั้ง รวมทั้งได้สร้างห้องน้ำไว้ 16 ห้อง และชาวมอแกนก็ช่วยกันทำความสะอาด เป็นต้น

เรียกว่า ณ วันนี้ชาวมอแกนเข้าถึงบริการสาธารณสุขมูลฐานในระดับที่ดีขึ้นมาก!

thumbnail_DSC_2909

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image