เศร้า ออมสิน ไม่ตอบสนองอะไรแล้ว หมอสะอื้น บอกให้ทำใจ

กรณีที่ทีมสัตวแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยกันผ่าตัดเอาเหรียญออกจากท้องเต่าตนุ หรือ เต่าออมสิน ประสบความสำเร็จ เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เพราะถือเป็นการผ่าตัดเอาเหรียญจำนวนถึง 915 เหรียญ รายแรกของโลก ซึ่งภายหลังจากการผ่าตัดในระยะแรก พบว่าอาการของออมสินดีขึ้นตามลำดับ ทีมสัตวแพทย์ที่นำโดย รศ.สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ พยายามที่จะฟื้นฟูสุขภาพของเต่าออมสิน โดยการทำกายภาพ ฝึกว่ายน้ำในทะเลเทียม เพื่อเตรียมตัวให้ออมสินสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเต่าตัวอื่นๆได้ แต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น รศ.สพญ.นันทริกา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ออมสินมีอาการเซื่องซึม ไม่ยอมเคลื่อนไหวร่างกาย จึงรีบนำตัวไปเอ็กซเรย์ พบว่า ลำไส้ของออมสินพันกันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ ทำให้เกิดแก้สในช่องท้อง ร่างกายเสียโปรตีนจำนวนมาก จึงต้องนำเข้าห้องผ่าตัดอีกครั้งอย่างเร่งด่วน หลังจากนั้นก็ให้ออมสินอยู่ในห้องไอซียู และห้ามเยี่ยมอย่างเด็ดขาดเพราะกลัวจะเกิดการติดเชื้อนั้น

วันที่ 20 มีนาคม รศ.สพญ.นันทริกา ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้า อาการเต่าออมสินว่า ขณะนี้ออมสินไม่ตอบสนองอะไรเลย หมอให้น้ำเกลือ และให้ออกซิเจน มีหมอที่เข้าเวรเฝ้าดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง ยอมรับว่าอาการค่อนข้างแย่ ต้องทำใจ

“เป็นเรื่องที่เราไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น ทั้งๆที่ความจริงแล้ว ตั้งใจว่าวันที่ 23 มีนาคมนี้ จะพาออมสินกลับไปสัตหีบด้วยซ้ำ เพราะเขาดีขึ้นตามลำดับ ทั้งเคลื่อนไหวได้ดี เริ่มกินอาหารเองได้ ว่ายน้ำเองได้ แต่ในที่สุดแล้ว กลไกในร่างกายของเขา ไม่สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับภาวะภายหลังการผ่าตัดได้ ปกติแล้วภาวะลำไส้ติดในเต่ามีความหวังค่อนข้างน้อย หากเกิดขึ้นหลังจาก 6-8 ชั่วโมง โอกาสรอดมีน้อยมาก แต่ออมสินผ่านมานานกว่านั้น ในฐานะหมอ ถึงจะทำใจเอาไว้แล้ว แต่ก็แอบลุ้นอยู่เหมือนกัน”รศ.สพญ.นันทริกา กล่าว

ด้าน ผศ.น.สพ.ภาสกร พฤกษะวัน ศัลยแพทย์ 1 ในทีมสัตวแพทย์ที่ผ่าตัดให้เต่าออมสิน ทั้ง 2 รอบ ให้สัมภาษณ์ว่า ปกติแล้ว ภาวะการบิดตัวของลำไส้ หรือลำไส้พันกันนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์ทั่วไป แต่กรณีของออมสินนั้น เป็นผลมาจากการมีช่องว่างในช่องท้องมากเกินไป เพราะเราได้นำเอาสิ่งแปลกปลอมจำนวนมาก และอยู่กับเขามานานออกไป ทำให้ลำไส้เกิดอาการแกว่งไปมาได้ง่าย จึงมีการบิดตัวและพันกัน ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดอีกครั้ง

Advertisement

“การผ่าตัดรอบแรก เราก็ค่อนข้างซีเรียสอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ดูเขาดีขึ้น ว่ายน้ำได้ กินอาหารได้บ้าง ขยับตัวได้มากขึ้น แต่ทางหมอก็ไม่เคยวางวางใจ ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด กระทั่งเกิดภาวะนี้ขึ้นมา แม้การผ่าตัดครั้งที่ 2 ผ่านไปแล้ว ยอมรับว่าค่อนข้างซีเรียสและหนักหนาพอสมควร” ผศ.น.สพ.ภาสกร กล่าว

เมื่อถามว่า เต่าออมสินจะตายไหม ผศ.น.สพ.ภาสกร กล่าวว่า บอกไม่ได้ บอกได้แต่เพียงหนักหนาพอสมควร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.30 น.วันที่ 21 มีนาคม จะมีการแถลงข่าวอาการของเต่าออมสิน ที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image