สิ้นเชฟหมี คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ศิลปากร คอลัมน์นิสต์มติชน นำร่างทำพิธีบ้านเกิดที่ระนอง
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายวิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแจ้งข่าวการเสียชีวิตของ ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ความดังนี้
ตุล – อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ผู้เป็นที่รักของทุกคน
จากไปอย่างสงบ
เมื่อ 20.51 ของวันนี้
(8 กุมภาพันธ์ 2568)
ญาติจะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดที่ จ.ระนอง
รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
สิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกท่านสามารถทำได้เมื่อได้รับทราบข่าวนี้ คือ ร่วมภาวนาส่ง อ.ตุล จากที่ใดก็ได้
ร่วมส่งกัลยาณมิตรอันประเสริฐสู่ดินแดนสุขาวดีร่วมกัน
ทั้งนี้ ผศ.คมกฤช มีผลงานวิชาการที่มีชื่อเสียง อาทิ ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย รวมถึงเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ในคอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ
นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในนาม ‘เขฟหมี’ จากการทำคลิปเผยแพร่ทางช่องยูทูป ในรายการ ‘ครัวกากๆ’ ด้วยลีลาเฉพาะตัว โดยล่าสุด เพิ่งเปิดกิจการร้านอาหาร ‘ครัวระนอง’ ในย่านบางขุนนนท์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังข่าวดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีบุคคลในแวดวงต่างๆ ร่วมโพสต์ข้อความไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก อาทิ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ระบุว่า ‘รู้สึกเศร้ามาก กัลยณมิตร ผู้มีจิตใจที่ดีงามเสมอ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เพื่อนร่วมงานผู้มากความสามารถ ด่วนจากกระทันหัน ขอให้อาจารย์เดินทางอย่างสงบครับ’
ด้าน รศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ‘ด้วยความอาลัย ขอให้อาจารย์ตุลย์เดินทางไปสู่ที่ที่ปรารถนา สุขสงบและร่มเย็น ในช่วงที่การเมืองรุนแรง เราต่างเห็นกันทั้งใกล้และไกล ไม่เสียใจที่ได้รู้จักกันครับ ขอบคุณสำหรับมิตรภาพ อุดมการณ์และน้ำใจไมตรี’
สำหรับ ผศ. คมกฤช จบการศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (การสื่อสารมวลชน) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2547 และอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ปรัชญา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2551
มีความเชี่ยวชาญในปรัชญาอินเดีย, ศาสนาฮินดู , ศาสนาในสังคมปัจจุบัน และปรัชญาอไทฺวตเวทานตะ
มีผลงานวิชาการ อาทิ “ มายา กับสถานภาพของความดี – ชั่วในปรัชญาเวทานตะของศังกราจารย์.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาปรัชญา ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550., บทความ พระพิฆเนศวร์ : การบูชาตามหลักศาสนาฮินดู, บทความ “Ganesh Chaturthi : คเณศจตุรถี วันเกิดพระคเณศ.” และ “ความเข้าใจเรื่องโยคะ.” เป็นต้น