อัยการธนกฤต แนะ 4 มาตรการเร่งด่วน แก้ความเดือดร้อนชาวปาย จี้ภาครัฐดำเนินการตรวจสอบจริงจัง

อัยการธนกฤต แนะ 4 มาตรการเร่งด่วน แก้ความเดือดร้อนชาวปาย จี้ภาครัฐดำเนินการตรวจสอบจริงจัง

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความ และกฎหมายพยานหลักฐาน ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึง มาตรการเร่งด่วนในการจัดระเบียบนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลในปาย จ.แม่ฮ่องสอนว่า

ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนและในโซเชียลมีเดียจำนวนมากถึงความเดือดร้อนที่ทั้งชาวบ้าน แพทย์ พยาบาล ผู้ประกอบธุรกิจชาวไทย ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับความเดือดร้อนจากนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล และเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและให้รายงานผลให้ทราบภายใน 7 วันนั้น

การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดี เป็นมิตร เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ถ้าจะละเลยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาบรรยากาศการท่องเที่ยวก็อาจจะนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระยะยาวได้

ADVERTISMENT

การสร้างความสมดุลของการรักษาบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีและการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นทั้งต่อคนไทยในพื้นที่และต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศด้วย

ในเรื่องนี้ผมขอให้ความเห็นถึงมาตรการเร่งด่วนที่ควรต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวปาย ดังนี้

ADVERTISMENT

1. เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจังว่า มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล ที่เข้ามาประกอบอาชีพ เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือรับจ้างทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่ชาวปายร้องเรียนจริงหรือไม่

ถ้าหากตรวจพบว่ามีจริง ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 37 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจจะเข้ากรณีที่ถือว่ามีพฤติการณ์ที่สมควรถูกเพิกถอนการอยู่ในประเทศไทยได้ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ มาตรา 36

รวมทั้งควรตรวจสอบนักท่องเที่ยวของประเทศอื่นในกรณีเดียวกันนี้ไปพร้อมกันด้วย และควรดำเนินการตรวจสอบด้วยว่ามีคนไทยเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในปายหรือไม่ ถ้าพบว่ามีก็ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

2. ควรมีการบังคับใช้กฎหมายกับนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลรวมทั้งนักท่องเที่ยวของชาติอื่นที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อความวุ่นวายเดือดร้อนรำคาญ ให้กับประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปก่อความเดือดร้อนในโรงพยาบาล การฝ่าฝืนกฎหมายจราจร การสูบกัญชาในที่สาธารณะ การก่อเสียงดังสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เพื่อจัดระเบียบสังคมในปายให้เกิดความสงบเรียบร้อย เป็นเมืองปายที่มีเสน่ห์แห่งความสงบเช่นเดิม

3. เจ้าหน้าที่รัฐควรเข้าตรวจสอบสถานที่ในปายที่ใช้เป็นโบสถ์ของชาวอิสราเอลว่าดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่

หากยังไม่ถูกต้อง ก็ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบด้วยว่า มีนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลหรือนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ที่มีพฤติการณ์ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ มาตรา 12 (7) หรือไม่

คือมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ

ถ้าพบว่ามี ก็ถือว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรถูกเพิกถอนการอยู่ในประเทศไทยได้ตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ มาตรา 36

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image