เฝ้าระวังฝุ่นจิ๋ว 27 ก.พ.-1 มี.ค. เผย ชัยภูมิ ฮอตสปอตสูงสุด 79 จุด

บกปภ.ช.เฝ้าระวังฝุ่นจิ๋ว 27 ก.พ.-1 มี.ค. เผย ชัยภูมิ ฮอตสปอตสูงสุด 79 จุด

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง/เลขานุการ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในวันนี้ ภาพรวมของประเทศถือว่าคุณภาพอากาศอยู่ในค่ามาตรฐานเกือบทั้งประเทศ มีบางจุดที่เกินค่ามาตรฐานอยู่บ้าง แต่สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นกังวล ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นอีกครั้งในช่วงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม

ด้านจุดความร้อน (Hotspot) ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 552 จุด โดย 5 จังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ ชัยภูมิ จำนวน 79 จุด ขอนแก่น จำนวน 41 จุด ลำปาง จำนวน 36 จุด สระแก้ว จำนวน 29 จุด และกาฬสินธุ์ จำนวน 27 จุด ส่วนใหญ่พบจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตร เขต ส.ป.ก.และพื้นที่ป่า สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อมูล ณ วันที่ 20 – 23 กุมภาพันธ์ พบว่ามีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่เกษตร แยกเป็น นาข้าว 129 จุด ไร่อ้อย 74 จุดเกษตรอื่นๆ 74 จุด ไร่ข้าวโพดและพืชหมุนเวียน 8 จุด โดยจังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่เกษตรสูงสุด ได้แก่ ชัยภูมิ 21 จุด ขอนแก่น 18 จุด และปราจีนบุรี 14 จุด ส่วนจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ ส.ป.ก. สูงสุด ได้แก่ ชัยภูมิ 22 จุด สระแก้ว 18 จุด และขอนแก่น 15 จุด

นายภาสกร กล่าวว่า สำหรับการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2568 จากข้อมูลของกรมป่าไม้ พบว่า มีการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 1,400 ครั้ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 544 ครั้ง ภาคกลาง จำนวน 610 ครั้ง รวมมีการควบคุมไฟป่าทั้งสิ้น 2,554 ครั้ง สรุปคดีเกี่ยวกับไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ ปี 2568 ภาคเหนือตอนบน จำนวน 12 คดี ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 1 คดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 คดี และภาคกลาง 2 คดี รวมจำนวนคดีไฟป่าสะสม 17 คดี ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พบว่า มีการออกตรวจการลักลอบเผาป่า พืชไร่ และพื้นที่เพาะปลูกเพื่อการเกษตร จำนวน 920 ครั้ง จับกุม จำนวน 10 ครั้ง และให้คำแนะนำห้ามเผา จำนวน 1,659 ครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนตามนโยบายคุมเข้มแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตามข้อสั่งการและมาตรการสำคัญของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำผิดและลักลอบเผา

ADVERTISMENT

นายภาสกร กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ในวันนี้ จ.ร้อยเอ็ดได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ความเข้าใจร่วมกับประชาชนเกี่ยวกับการห้ามเผาทุกพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีเกี่ยวกับการลักลอบเผาในโล่งโดยได้มีการแจ้งความดำเนินคดีรวมจำนวน 124 เรื่อง แยกเป็นจับกุม จำนวน 6 เรื่อง อยู่ระหว่างสืบสวน จำนวน 118 เรื่อง ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่า รัฐบาลมีการเอาจริงเอาจัง ส่งผลให้มีจำนวนผู้กระทำความผิดลดลง ที่สำคัญ จ.ร้อยเอ็ดได้ดำเนินมาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตรอย่างเข้มข้น โดยร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดติดตามการทดสอบเทคโนโลยีชีวภาพ จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวในพื้นที่นาปรัง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร เนื่องจากจังหวัดไม่สามารถใช้การผังกลบหรือไถกลบได้ทุกพื้นที่ เพราะพื้นดินมีความแข็ง

นายภาสกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ บูรณาการร่วมกันดำเนินตามข้อสั่งการนายกฯ และมาตรการสำคัญของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามมาตรการดูแลแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำผิดและลักลอบเผา พร้อมจัดการต้นตอการเกิดฝุ่น ตรวจตราดูแลพื้นที่ป่าและดับไฟป่าอย่างเคร่งครัด เพื่อเปิดฟ้าใสให้ทุกคนสูดอากาศดีได้อย่างเต็มปอด

ADVERTISMENT

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะประธานการประชุมกองบัญชาการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลการรณรงค์ “หยุดเผา หยุดฝุ่น เพื่อคุณ เพื่อเรา” ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีจังหวัดที่มีการประกาศห้ามเผา รวมทั้งสิ้น 74 จังหวัด โดยทุกพื้นที่มีการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเข้มข้น เข็มแข็ง และต่อเนื่อง อีกทั้งขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งข้อมูลรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รอบ 50 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ เพื่อจะได้เป็นชุดข้อมูลเดียวกันในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเชิงสถิติให้มีการเปรียบเทียบผลการดำเนินการย้อนหลัง 1 – 2 ปี อาทิ ข้อมูลการเกิดไฟป่า การดำเนินคดีควบคุมไฟป่า ค่าจุดความร้อนสะสม การณรงค์แบบเคาะประตูบ้าน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของภาครัฐ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการรวบรวมข้อมูลในเรื่องการใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายตอซัง เพื่อนำเป็นไปตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ และเป็นทางเลือกให้กับพื้นที่นอกจากการไถกลบตอซังเพื่อลดฝุ่นละออง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image