เร่งสอบปากคำ 93 ผู้ต้องหาแก๊งคอลปอยเปต เชื่อมโยง 46 คดี บางคนโพสต์หางานสีเทาเอง

ตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างสอบปากคำ 93 ผู้ต้องหา ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ พฤติการณ์เชื่อมโยง 46 คดี ที่มีผู้เสียหายแจ้งความในไทย พบข้อมูลผู้ต้องหาบางรายโพสต์โซเชียลหางานสีเทาเอง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มีนาคม ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ ผบก.อก.สอท. พ.ต.อ.ชัยรัตน์ วรุณโณ รอง ผบก.สอท.2 เปิดเผยถึงกรณีคุมตัวผู้ต้องหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาสอบปากคำว่า เมื่อคืนนี้ เวลาประมาณ 23.30 น. ได้นำตัวผู้ต้องหาที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งการจับกุมตามหมายจับทั้งหมด 93 คน จากหมายจับทั้งหมด 102 หมายจับ โดยเป็นหมายจับของบอสชาวจีน 2 หมาย ซึ่งบอสชาวจีนได้หลบหนีไปแล้ว

พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าวว่า ส่วนใน 100 หมายจับ เป็นผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ 7 คน ทำให้เหลือผู้ต้องหา 93 คน โดยขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นผู้หญิง 48 คน ส่วนผู้ชายอีก 45 คน แยกไปคุมตัวไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด สภ.เมืองนนทบุรี และสน.ทุ่งสองห้อง

ADVERTISMENT

พล.ต.ท.ไตรรงค์เปิดเผยอีกว่า จาก 119 คนที่ทางการกัมพูชาส่งตัวจากปอยเปตกลับมาที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคมนั้น แต่ไม่ถูกออกหมายจับ 19 คน แยกเป็น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 4 คน ซึ่งจากการสอบสวนน่าจะมี 2 คนที่เข้าข่ายความผิดการมีส่วนร่วมกันเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนอีก 15 คน จากพยานหลักฐานเบื้องต้นยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงในขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะถูกจับกุมอีกตึก แต่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันประเทศกัมพูชา

พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าวอีกว่า ในการออกหมายจับครั้งนี้มีพยานหลักฐานหลายส่วน ทั้งข้อมูลการสืบสวนจากระบบไทยโปลิศออนไลน์ ที่มีผู้เสียหายคนไทยมาแจ้งความ 46 เคสไอดี มูลค่าความเสียหายหลาย 10 ล้านบาท และข้อมูลการสืบสวนของตำรวจภูธรภาค 2 รวมถึงข้อมูลการสืบสวนของทางการประเทศกัมพูชา และข้อมูลจากการซักถามผู้ต้องหาในเบื้องต้น ซึ่งบางรายให้ความร่วมมือสมัครใจที่จะให้การอย่างเป็นประโยชน์ และทั้งหมดพบว่าเป็นพนักงานระดับล่าง ในจำนวนนี้มีล่ามอยู่หนึ่งคน

ADVERTISMENT

พล.ต.ท.ไตรรงค์เปิดเผยอีกว่า จากการสอบถามเบื้องต้นพบพฤติกรรมขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ต้องการไปหาทำงานที่ประเทศกัมพูชา บางคนโพสต์ในโซเชียลว่าต้องการหางานสายเทาโดยเฉพาะ และพบการเข้าออกประเทศหลายสิบครั้งต่อคน จากการซักถามเบื้องต้นพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะทำงานอยู่ภายในบริเวณที่เรียกกันว่า “พลูตาสวน” เป็นอาคารหลังเดียว แต่ภายในอาคารจะแบ่งเป็นห้องย่อยๆ มีมากกว่า 20 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องจะถูกเรียกว่าออฟฟิศ และจะใช้ทำการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ

พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าวว่า มีผู้ต้องหาบางรายรับสารภาพว่าจะทำงานหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง เพื่อไปหลอกเอาเงินบำนาญคนที่เกษียณอายุราชการแล้ว และยังมีการหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าว่าจะได้รับเงินคืนหรือส่วนลดค่าไฟฟ้า โดยการให้เหยื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นดูดเงิน หรือควบคุมโทรศัพท์ผ่านทางลิงก์ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะพบว่าในวันที่เข้าไปจับกุมมีผู้ต้องหาที่หลบหนีไปจำนวนหลัก 1,000 คน มีทั้งคนไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย

เบื้องต้นจะดำเนินการแจ้งข้อหาที่ประกอบไปด้วย “การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, เป็นอั้งยี่ซ่องโจร, ร่วมกันนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”

พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีกลุ่มบอสชาวจีนนั้น จากการสอบปากคำผู้ต้องหาในเบื้องต้นให้การว่าตึกที่เข้าจับกุมมีชาวจีนประมาณ 20 คน ที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาในแต่ละออฟฟิศเพื่อมาดูงานและสั่งการผ่านล่าม แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นบอสใหญ่สุด ส่วนจะเกี่ยวข้องกลุ่มทุนจีนสีเทาในไทยหรือไม่นั้นต้องรอดูผลการสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง โดยในวันพรุ่งนี้จะทำการฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในช่วงบ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image