เปิดถุงช้อป ‘ชัชชาติ’ คว้ารัว 3 เล่ม อ่านเต็มอิ่ม กระซิบ ‘หาความรู้รับใช้ประชาชน’

เปิดถุงช้อป ‘ชัชชาติ’ คว้ารัว 3 เล่ม อ่านเต็มอิ่ม กระซิบ ‘หาความรู้รับใช้ประชาชน’

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือมติชนและพันธมิตร ร่วมจัดงาน “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพ” ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม-อาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2568 เวลา 12.00-21.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เดินทางเข้าร่วม โดยมีผู้บริหารในเครือมติชนให้การต้อนรับ นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

ADVERTISMENT

นายชัชชาติกล่าวว่า หลังจากที่ได้เดินชมภายในงานรู้สึกว่าเป็นการจัดงานที่ดีมาก และขอขอบคุณมติชนและพันธมิตรทุกฝ่ายในการร่วมกับ กทม.เพื่อจัดงาน Knowledge Fest ในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างมาก ซึ่ง กทม.อยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพราะความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาเมือง และพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

“มติชนถือเป็นสื่อที่มีการให้ความรู้ในหลากหลายแขนง เช่น เส้นทางเศรษฐี ที่มีการเชิญร้านอาหารหลายๆร้านมาร่วมงาน ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน รวมไปถึงมีการเชิญสำนักพิมพ์ต่างๆมาร่วมขายหนังสือให้ความรู้ และการแสดงดนตรี ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถมาร่วมงานได้ถือเป็นสิ่งที่ดีและอยากให้มีการจัดงานลักษณะนี้ต่อไป” นายชัชชาติกล่าว

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติได้เลือกซื้อหนังสือจากบูธสำนักพิมพ์มติชน 3 เล่ม โดยระบุว่า ตนพยายามหาความรู้มารับใช้ประชาชน

สำหรับหนังสือดังกล่าว มีดังนี้

1.จอร์จทาวน์ เกาะปีนัง จากเมืองท่าประวัติศาสตร์สู่เมืองมรดกโลก ผลงานเกรียงไกร เกิดศิริ, ปัทม์ วงค์ประดิษฐ์, อิสรชัย บูรณะอรรจน์, กิตติคุณ จันทร์แย้ม

มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญในปัจจุบันของประเทศมาลาเซีย มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการค้าในคาบสมุทรมาเลย์และการค้าโลก พัฒนาจากหมู่บ้านเล็กๆ ของชาวประมง กลายเป็นเมืองท่าการค้า สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ นำพาผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกมาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะชาวตะวันตก ชาวอินเดีย และชาวจีน

ผสมผสานข้ามชาวพันธุ์ ตกทอดเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร สถาปัตยกรรมอาคารต่างๆ ในเมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง มีรูปแบบวิวัฒนาการสอดคล้องไปกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละช่วงเวลา ทั้งบังกะโลและบ้านร้านค้าต่างก็ปรับรูปแบบการก่อสร้างไปตามความนิยม แนวทางศิลปะ และเทคโนโลยีก่อสร้างเช่นกัน เหล่านี้เอง จึงทำให้เมืองจอร์จทาวน์มีสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบและตกทอดเป็นมรดกสินค้าวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวของประเทศมาเลเซีย

2.The Lost Forest : ประวัติศาสตร์(การทำลาย)สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร ผลงาน วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นำเสนอเรื่องราวการทำลายสิ่งแวดล้อมในไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกทำลายป่า การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า การต่อสู้ของชาวบ้านกับรัฐและนายทุน อุตสาหกรรมที่กระทบลมหายใจของผู้คน ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยุคใหม่อย่างการก้าวเข้าสู่ยุคโลกเดือด ฝุ่นพิษ PM2.5 และการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

3.Restorative Cities ให้นครเยียวยาใจ ผลงาน Jenny Roe, Layla McCay แปลโดย ธาม โสธรประภากร

เนื้อหาเกี่ยวกับ เมืองแห่งอนาคต ในศตวรรษที่ความเหงาเกาะกุมทุกซอกซอย โลกหันหน้าสู่ยาต้านเศร้า โรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 ขีดเส้นแบ่งเพิ่มระยะห่างระหว่างผู้คนให้ชัดมากกว่าเคย คำถามสำคัญจึงไม่ใช่แค่ว่าเราจะ “อยู่อย่างไร” แต่จะทำอย่างไรให้ “อยู่อย่างเป็นสุข” ร่วมสำรวจเมืองในฝันที่หล่อเลี้ยงความสุข ออกแบบทุกหัวมุมถนนเพื่อฟื้นฟูชีวิต และเขียนเมืองใหม่ที่ชุบชูหัวใจของทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image