ม็อบแรงงาน 4 บริษัท อยากเจอตัวแทนรัฐบาล – อดีตลูกจ้างเผย สู้ทุกยุคให้มีกฎหมาย เล่าวิธีนายจ้างเอาเปรียบ – ปักหลักทำเนียบ ทวงสัญญา ‘จ่ายเงินชดเชย’ กว่า 800 ชีวิตถูกเลิกจ้าง ลอยแพ
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่บริเวณตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการปักหลักชุมนุมของตัวแทนพนักงาน 4 บริษัท เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างลอยแพเป็นเวลาหลายเดือน
โดยกลุ่มคนงาน 4 บริษัทได้เริ่มชุมนุมเรียกร้อง ครม.อนุมัติงบกลาง ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ จ.สมุทรปราการ แต่ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร จึงเดินทางมาปักหลักบริเวณทำเนียบตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในวันดังกล่าว นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงาน ได้ลงนามเสนอเรื่องของบฯ แล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่วาระ ครม.
ล่าสุดวานนี้ (12 มี.ค.) มาลี เตวิชา ประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์กรุ๊ป ในฐานะตัวแทนพนักงานบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ย่านกิ่งแก้ว ได้แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว พร้อมประกาศเริ่มอดอาหารประท้วงเป็นคนแรก โดยเผยว่า จะเพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ (วันละ 1 คน) จนกว่า ครม. จะอนุมัติงบประมาณรายจ่ายกลาง เป็นจำนวนเงินประมาณ 466 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือแรงงานทั้ง 4 บริษัทที่ได้รับความเดือดร้อน
บริเวณโดยรอบมีการแขวนป้ายข้อความ อาทิ อุ้มท้องทวงค่าชดเชย นายกฯ โปรดเห็นใจความเป็นแม่เหมือนกัน, กระทรวงแรงงานรับปากทุกคำ แต่ทำไม่ได้ มีไว้ทำไม, กระทรวงแรงงานอยู่ไหน ช่วยลูกจ้างด้วย นายจ้างลอยแพ 800 กว่าชีวิต, รัฐล้มเหลว แรงงานหิวโซ, นายกฯบอกว่าทุกคนจะมีงานทำ แต่พวกเรากลับถูกเลิกจ้าง, เราก็มีลูกที่ต้องดูแล ตอนนี้ลูกเรากำลังอดตาย ตลอดจนข้อความ ‘สัญญากันแล้ว แต่ทำไมทำร้ายกันแบบนี้’ เป็นต้น
เวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหน้าอาคารเก่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) กลุ่มคนงาน 4 บริษัทได้ปักหลักโดยนำผ้าใบ สแลน และร่มมาขึง พร้อมปูเสื่อนั่งเป็นสำหรับนั่งและนอนหลบแดด นอกจากนี้ยังมีการนำพัดลมมาติดตั้งเพื่อคลายความร้อน
ทั้งนีั มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการอย่างใกล้ชิด โดยระหว่างนี้ ‘วงแรงงาน’ และ ‘วงภราดร’ แสดงดนตรีกรรมกร เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องแรงงาน อาทิ คนกับควาย, เป็นกำลังใจให้คุณ , เสียงครวญของมวลกรรมกร เป็นต้น โดย วิชัย และนก กล่าวหลังร้องเพลงด้วยว่า เคยมานอนชุมนุมอยู่บริเวณมุมนี้เมื่อปี 2539 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง
“อันนั้นรุ่นหนึ่ง อันนี้รุ่นสอง ตอนนั้นค่าแรง 180 กว่าบาท/วัน แต่จ่ายเราสัปดาห์ละ 200-300 บาทบ้าง ก็ออกเลยในปีนั้น ตอนนี้โรงงานปิดตัวแล้ว ปิดไป 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2539 ยังไม่ได้ค่าชดเชย” นกกล่าว พร้อมทั้งแสดงความเห็นใจและส่งกำลังใจให้สู้ต่อไป
โดยในตอนหนึ่ง นก ยังกล่าวถึงเพลงที่แต่งขึ้น เพื่อสะท้อนถึง ‘ความทุกข์ยากของแรงงาน’ ซึ่งเผยด้วยว่า มีเรื่องหนึ่งที่จำได้เป็นอย่างดี คือ ‘ตำนานเข้าห้องน้ำจับเวลา’ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ จะมีคนที่เรียกว่า ‘เสมียนจดขี้’ เป็นคนที่จับเวลาตอนเข้าห้องน้ำ
ต่อมาเวลา 18.10 น. น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือ ไหม แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวถึง 50 ปี ของกฎหมายแรงงาน ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาเราได้เสนอ พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน แต่ก็ถูกปัดตกไปแล้ว พยายามยื่นกฎหมายที่ทำให้เกิดการรวมตัวต่อรองได้ แต่จะยังคงยื่นเข้าไปใหม่ ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนกฎหมายล้าหลัง
“กลางวันก็สู้กับแดด กลางคืนสู้กับยุง แล้วยังต้องสู้กับนายจ้าง ถ้าการเมืองดี ฟังเสียงประชาชน คงไม่ต้องเจอแบบนี้ นายจ้างที่ไม่ดี ก็ไม่ควรอยู่ในประเทศ
“ตำรวจมาประกาศทุกเช้า เพื่อบอกว่าห้ามชุมนุมบริเวณรอบทำเนียบ แต่เราคิดว่าเป็นสิทธิของพวกเรา และยืนยันจะชุมนุมต่อจนกว่าจะได้รับการเยียวยา” น.ส.ธนพรกล่าว และว่า
เราอยากส่งเสียงนี้ถึง คุณแพทองธาร ชินวัตร เราอยากเจอตัวแทน พรรคเพื่อไทย หรือพรรคภูมิใจไทย
จากนั้นเวลา 18.15 น. มีการล้อมวงเสวนาแรงงาน-การเมือง บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ในหัวข้อ “ค่าชดเชยทำไมช่างยากเย็น?” โดย วิชัย ตัวแทนอดีตคนงานเส้นใยสังเคราะห์ ย่านรังสิต, วาสนา อดีตคนงานการ์เม้นท์ (อุตสาหกรรมสิ่งทอ) ย่านหลักสี่ และ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมพูดคุย
ในตอนหนึ่ง นายวิชัยกล่าวว่า ชีวิตของตน กับนก แทบจะเปลี่ยนแค่วันที่ และ พ.ศ. นอกนั้นยังคงเหมือนเดิม ซี่งแรงงานย่านรังสิต เราเป็นกำลังสำคัญ ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นยุคสิ่งทอ ที่มีผู้หญิงเป็นกำลังหลัก
“โรงงานที่ผมทำไม่ขาดทุน มีกำลัง มีนายจ้างเป็นชาวฝรั่งเศส การทำเส้นใยสังเคราะห์รายได้ดีมาก
เรามีการตั้งสหภาพฯ เมื่อปี 2522 เป็นอิทธิพลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มมีประชาธิปไตยครึ่งใบ มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานสัมพันธ์ หลังตั้งสหภาพได้ 6 ปี บริษัทคิดจะฮุบบริษัทต่างชาติ ด้วยต้นทุนที่สูงจึงอยากเอาผู้ถือหุ้นต่างชาติออก มีการสร้างสถานการณ์ ‘ข้อเรียกร้องสวน’ คือขอสวัสดิการคืนทั้งหมด” นายวิชัยเผย
นายวิชัยกล่าวต่อว่า สหภาพแรงงานย่านรังสิต ถือว่าเข้มแข็งที่สุดในตอนนั้น อย่างไรก็ดี กฎหมายที่จะเอื้อให้นายจ้างลิดรอนสิทธิแรงงาน ยังคงอยู่ การเจรจาจึงยากมาก เราจึงนัดหยุดงานเพราะเจรจามาหลายเดือนแล้ว
“ความเข้มแข็งคือเราอยู่เป็นหอพัก สหภาพจึงทำงานง่าย มีปัญหาพี่น้องก็มาคุยกับสหภาพ ในวันที่เราหยุดงาน มันคือการผลักดันจากสมาชิก ที่ไม่ยอมรับการลิดรอน เดินแถวเรียงเดี่ยวออกมาหน้าโรงงาน แล้วมานอนหน้าทำเนียบ”
กระบวนการต่อสู้ยุคนั้น แม้จะลิดรอน แต่ไม่อาจปิดกั้นได้ เราจึงเดินขบวนไปที่คลองหลอด เพราะตอนนั้นยังไม่มีกระทรวงแรงงาน” นายวิชัยเผย
นายวิชัยกล่าวว่า ‘พลังแรงงาน’ นายจ้างขาดไม่ได้ ในทางกฎหมาย เขาเลิกจ้างเรา แต่สร้างกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับ สามารถเปิดโรงงานใหม่ได้ในวันรุ่งขึ้น โดยยอมจ่าย 30 ล้านแล้วเปิดใหม่ในชื่อเดิม
“แต่เขาคัดเอาคนที่ ‘เชื่องในอุดมการณ์’ ว่านอนสอนง่าย ไม่มีปฏิกิริยาอะไร จะเลือกคนแบบนี้กลับเข้าไปทำงาน เรื่องราวผมจบแบบนี้ ได้ค่าชดเชย 7 เดือน ก็ยังคิดไม่ตกว่า ตกลงผมแพ้ หรือชนะ กฎหมายบ้านเรามันประหลาด”
ในช่วงท้าย นายวิชัยกล่าวด้วยว่า นี่คือภารกิจ ทางประวัติศาสตร์ ที่เราจำเป็นต้องสร้างอะไรไว้ให้รุ่นลูกหลาน ซึ่งจะต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
“เราเรียกร้องกฎหมายทุกยุคสมัย ในขณะที่นายจ้างพยายามทำให้กฎหมายเป็นอัมพาต ดังนั้น ต้องต่อรองด้วยพลังที่เข้มแข็ง ขอให้กำลังใจในฐานะที่ผ่านมาก่อน”
ด้าน นางวาสนา หรือ นก กล่าวว่า ตนทำงานมนโรงงานผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ในช่วงปีมี 2534 มีการตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยจำนวนจึงจัดตั้งได้สำเร็จ แต่ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง
โดยในช่วงปี 2538-2540 ก่อนเกิดวิกฤต นายจ้างก็พยายามย่อยคน และย่อยกระบวนการผลิต โดยในยุคนั้นนายจ้างใช้วิธีเกษียณก่อนกำหนด และปลดออก อุตสาหกรรมสิ่งทอ ก็เริ่มย้ายฐานการผลิตไปลาวและจีน
“นายจ้างเริ่มมีปัญหาเยอะขึ้น เราก็เริ่มต่อรอง ไม่เอาเงินชดเชย 6 เดือน แต่ยึดตามฐานแรงงาน นายจ้างบอกว่า ‘ถ้าอย่างนั้นปิดโรงงาน’ พยายามให้เราไปอยู่ในสภาพที่ลำบาก ในตึกร้าง เมื่อปิดโรงงานเราเลยชุมนุม นอนขวางรถบรรทุกที่กำลังขนสินค้า ขนเครื่องจักรออกจากโรงงาน สู้กับแบบนั้น ก็นอนกันเป็นแพ ขวางล้อไว้
“เบรกได้ แต่ในที่สุด รัฐเจรจาอีกแบบว่า ‘เขาจะเอาของไปขาย เพื่อเอาค่าชดเชยให้เรา’ พยายามไปนอนที่กระทรวง ยุงที่กระทรวงก็ไม่ใช่เล่น ไม่มีเงินค่ารถ เดินอย่างเดียวเป็นสิบๆ กิโล แจกใบปลิวตลอดทาง เราสู้กันเป็นปี มานอนทำเทียบ เอาหัวพาดฟุตปาธนอน” นางวาสนาเผย
นางวาสนากล่าวว่า การต่อสู้ดำเนินไปอย่างยาวนาน จนประทั่งได้สิทธิ เรื่องการว่างงาน ในตอนนั้นเราเรียกร้องทั้งเรื่อง ‘ประกันสังคม การว่างงาน และค่าชดเชยที่มากกว่ากฎหมาย’ ในปี 2540 ตนจึงเข้าไปสู่กระบวนการร่างกฎหมาย
“มีข้าวเหนียวหมู 1 ห่อ นั่งกลางถนน แดดร้อนๆ เรียกร้องประกันสังคม สู้ไม่ถอย จนในที่สุดรัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายให้เรา แต่ตอนยังไม่ได้หลักฐานว่าเงินจ่ายค่าชดเชย 40 ล้าน มาจากไหน เรานอนเฝ้าของอยู่หน้าบริษัท เขาก็ใช้กฎหมายฟ้องว่าเรา ‘บุกรุก ขวางนายจ้าง ปิดทางเข้าออก’ ถึงโดนคดีแต่เราไม่ได้สนใจ นายจ้างหนีไปแล้ว ก็ไปตามถึงประเทศออสเตรเลีย เพื่อนผู้หญิง 3-4 คน โดนการ์ดไล่กระทืบ เพราะไปทวงค่าชดเชย จนข่าวออกในตอนนั้น
ดังนั้น เราเรียกร้องกองทุนประกันการเลิกจ้าง เพื่อเป็นหลักประกัน หากมีเงินก้อนนี้จะได้ไม่ต้องมาชุมนุมอีก เราเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ไม่ได้อยากปีนกำแพง เราม็อบอยู่เป็นปี จนได้เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง” นางวาสนากล่าว และว่า
ดังนั้น ก็ขอเป็นกำลังใจให้พวกเรา 800 กว่าคนที่กำลังสู้อยู่นี้ เปลี่ยนความคับแค้นเป็นพลัง เดินไปข้างหน้าเพื่อทวงเงิน ซึ่งเป็นสิทธิของเราที่ควรจะได้
สำหรับ บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ ย่านกิ่งแก้ว ประกอบธุรกิจผลิตอะไหล่รถยนต์ อาทิ เบรก ครัช เกียร์ และอื่นๆ ให้กับซัปพลายเออร์ยี่ห้อรถชื่อดัง ซึ่งหลังจากได้ประกาศเลิกกิจการ เมื่อพฤศจิกายน 2567 ทำให้แรงงานทั้งหมดตกงานทันที 859 คน โดยปัจจุบันยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้าง ซึ่งนายจ้างค้างจ่ายคนงานราว 250 ล้านบาท