ธรณ์ ชี้ ไม่ควรเอาทรัพยากร ไปแลกกับการสร้างบ้านให้ชาวต่างชาติอยู่ ทีมวิจัยทช.พบที่ระนองเป็นป่าชายเลนอนุรักษ์

กรณีที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอให้ผ่อนผันพื้นที่ป่าชายเลน 2 แห่ง ในเขต จ.ระนอง เนื้อที่ 120 และ 73 ไร่ และขอให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพิกถอนสภาพออกจากความเป็นป่าชายเลน เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาสร้างที่พักอาศัย ในรูปแบบวิลลา ให้กับแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ กว่า 46,000 คน ตามโครงการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยระบุว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติ แลบะทช.อนุญาต โครงการนี้จะแล้วเสร็จภายใน 10 เดือนนั้น

วันที่ 28 มีนาคม ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า อ่านข่าวแล้วก็งงๆเรื่องของสภาพป่าชายเลน ที่บอกกันว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากน้ำทะเลท่วมไม่ถึงแล้ว พื้นที่ดังกล่าว จึงเหมาะสมที่จะนำไปสร้างบ้าน ที่อยู่อาศัย หรือวิลลาได้ ซึ่งตนอยากจะทำความเข้าใจว่า คำว่า พื้นที่ป่าชายเลนนั้น แม้ว่าน้ำทะเลจะท่วมขึ้นมาไม่ถึง แต่ก็จะยังมีอิทธิพล ของความเป็นป่าชายเลนอยู่ คือ ยังมีอิทธิพลของน้ำทะเล น้ำขึ้น น้ำลงเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ ไม่ได้อยู่ที่ว่า เมื่อน้ำทะเลท่วมไม่ถึงแล้วจะหมดสภาพป่าชายเลนไปทันที

“ที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เรื่องของการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนคือ ต้องใช้ความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น หรือคงสภาพเดิมให้มากที่สุด และเหตุผลที่จะเอาพื้นที่ไปใช้ก็ฟังไม่ค่อยขึ้นนัก เรี่องแรงงานต่างด้าวไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง ส่วนเรื่องที่บอกว่า หากครม.อนุญาตให้ดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว จะต้องจ่ายค่าชดเชย 20 เท่า หรือต้องให้งบประมาณเพื่อไปปลูกป่าชายเลนชดเชย ไม่ต่ำกว่า 4,000 ไร่ นั้น มันไม่เข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ของประเทศไทยเลย และไม่มีที่ไหนเขาทำกันที่เอาพื้นที่ป่ามาแล้วไปหาที่ใหม่เพื่อปลูกชดเชย”ผศ.ธรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หากตรวจสอบพบว่า พื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจริง มีความชอบธรรมที่จะใช้ทำโครงการนี้หรือไม่ ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า หากเห็นว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สิ่งที่จะต้องรีบดำเนินการก็คือ เข้าไปฟื้นฟูเพื่อให้ความสมบูรณ์ในพื้นที่กลับคืนมา ไม่ใช่เอาอย่างอื่นมาใส่แทน เพื่อให้เสื่อมโทรมยิ่งกว่าเดิม

Advertisement

“เราไม่ควรเอาทรัพยากร อันเป็นสมบัติของชาติ ไปแลกกับการสร้างบ้านให้ชาวต่างชาติอยู่ ในขณะที่มีคนไทยจำนวนมากมาย ที่ยังอยู่ในสลัมแออัด ปราศจากคุณภาพชีวิต”ผศ.ธรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมนักวิจัย ของทช.ได้มีการตรวจสอบข้อมูลในการขอให้เพิกถอนป่าชายเลน ตามที่ กระทรวงมหาดไทยร้องขอแล้ว พบว่า พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองหัวเขียว และป่าคลองเกาะสุย และอยู่ในเขตป่าชายเลนอนุรักษ์ ตามมติครม. ซึ่งมีการทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังการประกาศเป็นที่ดินของรัฐตามกฏหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยมีสถานะทางกฏหมาย ถือเป็นพื้นที่ ที่ถูกบุกรุก ไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแต่อย่างใด และที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ผูกพันภาระทางกฏหมาย ของทช. ปัจจุบันสถานะทางคดียังไม่สิ้นสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image