อึ้ง!! ผู้หญิง 51% เคยถูกลวนลามช่วงสงกรานต์ องค์กรสตรี จี้พม. ออกมาตรการป้องกัน

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (บ้านราชวิถี) นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวภายหลังร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และแกนนำผู้หญิงพ่อแม่ผู้ปกครองกว่า 30 คน ยื่นหนังสือข้อเสนอการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลวนลามและคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ ถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มารับหนังสือ ว่า เทศกาลสงกรานต์มักเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ ลวนลาม คุกคามทางเพศ จนเป็นค่านิยมของผู้ชายที่คิดว่าสามารถทำได้ ไม่ผิด หากทำในช่วงเทศกาลนี้ ด้วยค่านิยมดังกล่าวทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เล่นน้ำที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ สะท้อนจากผลสำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,793 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่าร้อยละ 85.9 เห็นว่าไม่ควรมีการฉวยโอกาสลวนลามในช่วงสงกรานต์และควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.9 เคยถูกฉวยโอกาสถูกลวนลามคุกคามทางเพศมาแล้ว ขณะที่เหตุการณ์ที่เคยเจอบ่อยที่สุดคือ ถูกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ ตามด้วยถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาการทะเลาะวิวาท ซึ่งปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายจะเด็จ กล่าวว่า สค.เป็นหน่วยงานที่ดูแลแก้ปัญหาโดยตรง จึงควรเร่งรณรงค์สร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบของการเคารพในเนื้อตัวร่างกาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ และปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิและเครือข่ายมีข้อเสนอให้ พม. 4 ข้อ ดังนี้ 1.ให้พม.เร่งรณรงค์ยุติการลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยการเร่งประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดให้มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เพื่อการระงับเหตุและบังคับใช้กฎหมายได้ทันท่วงที 2.พม.โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ต้องประสานความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ สร้างความตระหนักและร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ 3.ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาที่ต้นตออันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นปัจจัยร่วมสำคัญต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และ4.มูลนิธิและภาคีเครือข่ายงดเหล้าทุกจังหวัด ยินดีร่วมมือกับพม.ในการรณรงค์ เฝ้าระวังและแจ้งเหตุ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว

“ที่ห่วงที่สุดคือการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานคอนเสิร์ต งานอีเว้นท์ที่มีการแสดงดนตรีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเป็นกลยุทธ์ใหม่และการปรับตัวของบริษัทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกฎหมายยังไปไม่ถึง และเจ้าหน้าที่ยังควบคุมไม่ได้ เมื่อมีการดื่ม ก็อาจเกิดการลวนลวน คุกคามทางเพศภายในงาน บ้างก็กลับจากคอนเสิร์ตขับรถทั้งที่มีสภาพมึนเมา ไปเกิดอุบัติเหตุได้” นายจะเด็จกล่าว

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต-นายจะเด็จ เชาวน์วิไล

ขณะที่ นายเลิศปัญญา กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า พม.มีภารกิจในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพสตรี รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน การส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสตรี สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์เราก็เตรียมมาตรการป้องกันและดูแลสตรีไว้บ้างแล้ว อาทิ ให้ พมจ.ร่วมกับเจ้าภาพจัดกิจกรรมสงกรานต์ในจังหวัด ในการกำหนดพื้นที่ปลอแอลกอฮอล์ มีจุดเฝ้าระวังรับแจ้งเหตุลวนลามคุกคามทางเพศ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็พร้อมจะร่วมรณรงค์กับภาคประชาสังคม โดยสำหรับข้อเสนอในวันนี้ตนจะเสนอให้พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.พิจารณา เพื่อกำชับให้ พมจ.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทำงานเชิงป้องกันและดูแลผู้หญิงระดับพื้นที่ต่อไป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ฝากถึงผู้หญิงทุกคนหากประสบเหตุถูกลวนลามคุกคามทางเพศ ต้องร้องโวยวายและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในละแวกนั้นให้ช่วยเหลือ หรือโทรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และอยากฝากถึงผู้ชายว่าเทศกาลสงกรานต์ไม่ใช่ช่วงที่จะฉวยโอกาสผู้หญิงได้ เป็นเรื่องผิด และไม่ควรกระทำ ฉะนั้นอยากให้มาร่วมสร้างวัฒนธรรมที่ดี การเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายในการเล่นสงกรานต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image