ศ.ดร.อมร ชี้ ตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว อาคารไม่ควรถล่มแบบนี้ ต้องตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้น

ศ.ดร.อมร ชี้ ตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว อาคารไม่ควรถล่มแบบนี้ ต้องตรวจสอบมาตรฐานเหล็กเส้น

วันที่ 29 มีนาคม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน (28 มี.ค.) แล้วทำให้อาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ถล่มลงมาแบบราบคาบนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและนักวิจัย สกสว. ตั้งข้อสังเกตถึงจุดเริ่มต้นของการถล่มว่า จากภาพวิดีโอ มีจุดที่พังทลายที่สำคัญ 3 จุด ได้แก่

1.เสาชะลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา 2.รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง และ 3.การพังที่เกิดจากปล่องลิฟต์ โดยในขณะนี้ยังไม่สรุปว่า จุดเริ่มต้นการถล่มเกิดที่จุดใด แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากจุดใดก่อน ก็สามารถทำให้อาคารถล่มราบคาบลงมาเป็นทอดๆ ได้ ซึ่งในทางวิศวกรรมเรียกว่า Pancake collapse

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุการถล่มได้ คือ การสั่นพ้อง (resonance) ระหว่างชั้นดินอ่อนกับอาคารสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวระยะไกลจากเมียนมา เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงชั้นดินอ่อนกรุงเทพฯ จะเป็นแผ่นดินไหวแบบคาบยาว (long period) ซึ่งจะกระตุ้นอาคารสูงได้ เนื่องจากมีคาบยาวที่ตรงกันระหว่างอาคารกับชั้นดินอ่อน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น ตัวปั้นจั่นที่ติดตั้งในปล่องลิฟต์ มีการสะบัดตัวและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอย่างไรนั้น ยังต้องพิสูจน์ต่อไป

อย่างไรก็ดี ตามกฎกระทรวงแผ่นดินไหว ปี 2550 และ 2564 อาคารหลังนี้ควรต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหวในระดับที่ไม่ควรถล่มแบบนี้ จึงต้องไปตรวจสอบแบบและการก่อสร้างด้วย

ADVERTISMENT

อีกประเด็นสำคัญที่ตัดทิ้งไม่ได้ คือ คุณภาพวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีตและเหล็กเสริม ว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นที่นำมาใช้ ได้มาตรฐานและมีความเหนียวเพียงพอหรือไม่ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบทุกปัจจัย ก่อนจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image