คปภ. เร่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือ-ย้ำพร้อมเยียวยาด้านประกันภัย เหตุแผ่นดินไหว
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทาง คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ได้มีการติดต่อประสานงานอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2568 หน่วยงาน คปภ. และ 4 บริษัทประกันภัยชั้นนำ ได้แก่ บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.อินทรประกันภัย และและ บมจ.วิริยะประกันภัย ได้ลงพื้นที่ที่เกิดเหตุถล่ม ที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่
นายชูฉัตร กล่าวว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานงานไปยังบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านประกันภัยเข้าไปตรวจสอบพื้นที่อาคารที่เกิดเหตุให้กับบริษัทประกันภัย และขอความร่วมมือเพื่อจะขอทราบรายชื่อ ผู้สูญหายและข้อมูลบัตรประชาชน หรือข้อมูลที่สามารถยืนยันตัวตนได้ รวมถึงมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัย และมีเจ้าหน้าที่ของ คปภ. ประจำอยู่ที่จุดเกิดเหตุ รวมถึงมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือเพิ่มที่สำนักงานใหญ่ คปภ. ที่รัชดา กรุงเทพฯ และ คปภ. เชื่อว่า จะมีสัญญาณที่ดีที่มีผู้รอดชีวิตขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงทางบริษัทประกันภัยพร้อมที่จะตรวจสอบรายชื่อ และกรมธรรม์ทุกอย่าง และพร้อมที่จะเยียวยาจ่ายเคลมให้ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์
อย่างไรก็ตาม นายชูฉัตร ระบุว่า จากการประเมินความเสียหายของอาคาร สตง.แห่งใหม่ที่ถล่ม ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่แท้จริงได้ แต่ยืนยันว่ากรณีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องได้รับการชดเชยภายใน 15 วัน
นายชูฉัตร กล่าวว่า ถึงแม้ว่า การเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกสำหรับในกรุงเทพมหานคร แต่ทาง คปภ. ก็มีการตื่นตัวและพร้อม ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ขณะที่การเยียวยาและเคลมประกันสำหรับอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และมีการทำประกันอัคคีภัย รวมถึงประกันภัยอาคารชุด ได้ประสานไปยังนิติบุคคล เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายของผู้อยู่อาศัย พบว่ามีการทำประกันอัคคีภัยทั่วประเทศกว่า 5.4 ล้านฉบับ เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีกว่า 2.2 ล้านฉบับ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งกรณีไฟไหม้และแผ่นดินไหว ได้รับความคุ้มครอง 20,000 บาทต่อกรมธรรม์
ส่วนประชาชนที่ที่พักเสียหายและเสี่ยงเกิดอันตราย สามารถดำเนินการซ่อมแซมเพื่อความปลอดภัยได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการประเมินจากประกัน แต่ต้องมีการบันทึกภาพความเสียหาย ไว้ประกอบการขอชดเชย
ด้าน นายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า กรณีได้รับบาดเจ็บ หรือมีบุคคลที่ทำประกัน เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมพร้อมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์
นอกจากนี้ นายสมพร ยืนยันว่า บริษัท ประกันวินาศภัย ทุกแห่ง มีความพร้อมและความมั่นคงทางการเงิน ที่ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ทุกฉบับ โดยได้บริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยต่อไว้ด้วย
นายสมพร กล่าวว่า สำหรับ กรณีตึก สตง. ที่พังถล่ม และได้ทำประกันไว้กับ 4 บริษัทดังกล่าว วงเงินคุ้มครอง 2.2 พันล้านบาท และมีการทำประกันต่อในต่างประเทศเพื่อบริหารความเสี่ยง ตามหลักการต้องพิจารณาว่า ก่อนจะถล่มนั้นมีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปมากน้อยแค่ไหน เพื่อพิจารณามูลค่าของอาคารเฉพาะ ในส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว นอกจากนี้ การทำประกันอัคคีภัยของที่อยู่อาศัยยังครอบคลุมถึงภัยแผ่นดินไหว หากผู้เอาประกันตกลงค่าสินไหมตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดได้จะต้องจ่ายภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ นายสมพร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ตั้งคำถามเรื่อง หากมีการตรวจสอบพบว่า อาคารดังกล่าวมีการทุจริตไม่ตรงตามสเปกนั้น หากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานก็ไม่คุ้มครองแน่นอน แต่ทั้งนี้จะต้องใช้การประเมินของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้าทำการตรวจสอบ แล้วทางประกันภัยจะอ้างอิงข้อมูลดังกล่าวในการจ่ายเคลมประกัน