เปิดกฎกระทรวงแผ่นดินไหว มีกี่ระดับ คุมพื้นที่ไหน อาคารอะไรบ้างที่ต้องทำ

(AP Photo/Wason Wanichakorn)

เปิดกฎกระทรวงแผ่นดินไหว มีกี่ระดับ คุมพื้นที่ไหน อาคารอะไรบ้างที่ต้องทำ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเทศเมียนมา ที่แรงสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทยในหลายพื้นที่ รวมถึงเมืองมหานคร ตึกสูงระฟ้าอย่างกรุงเทพฯด้วย

แม้ว่าภาพความเสียหายอาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่หลายคนยังมีภาพจำของตึกที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมาเพียงชั่วพริบตา

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะมีหลายคนสงสัยหรือคาใจ “ประเทศไทย” มีกฎหมายในการรับมือแผ่นดินไหวอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมาในแง่ของการก่อสร้าง

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับการก่อสร้างในประเทศไทย ได้มีมาตรการรองรับมือกับแผ่นดินไหว ภายใต้กฎหมายที่ใช้ควบคุมอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต้องออกแบบรองรับแรงแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ปื 2540 เริ่มควบคุมในพื้นที่ 10 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ที่อยู่ใกล้แนวรอยเลื่อน

จากนั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในปี 2550

ADVERTISMENT

ต่อมาปรับปรุงเป็นกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวปี 2564 ที่บังคับใช้ในปัจจุบัน

โดยขยายพื้นที่เพิ่มให้ควบคุมพื้นที่ทั้งหมด 43 จังหวัด และ 17 ประเภทอาคาร เพื่อให้เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวหลายพื้นที่

สำหรับพื้นที่ควบคุม แบ่งเป็น 3 บริเวณ ประกอบด้วย”บริเวณที่ 1″ เป็นบริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง รวม 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย

“บริเวณที่ 2” เสี่ยงภัยในระดับปานกลาง รวม 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

“บริเวณที่ 3” เสี่ยงภัยในระดับสูง รวม 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์

โดยกฎกระทรวงให้ใช้บังคับในบริเวณและอาคาร อาทิ

1.อาคารที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือและบรรเทาภัยหลังเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ โรงพยาบาล สถานีดับเพลิง อาคารศูนย์บรรเทาสาธารณภัย อาคารศูนย์สื่อสาร ท่าอากาศยาน โรงไฟฟ้า หรือโรงผลิตและเก็บน้ำประปา

2.คลังสินค้าที่ใช้เป็นสถานที่เก็บวัตถุอันตรายประเภทวัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ หรือวัตถุกัมมันตรังสี

3.โรงมหรสพ หอประชุม ศาสนสถาน สนามกีฬา อัฒจันทร์ สถานีขนส่ง
สถานบริการ หรือท่าจอดเรือ ตั้งแต่ 600 ตร.ม.ขึ้นไป

4.หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน หรือสถานศึกษา ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป

5.หอสมุด ตั้งแต่ 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป

6.ตลาด ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า ตั้งแต่ 1,500 ตร.ม.ขึ้นไป

7.โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพักที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 4,000 ตร.ม.ขึ้นไป

8.อาคารจอดรถที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่ 4,000 ตร.ม.ขึ้นไป

9.สถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน/ดูแลผู้สูงอายุ (ที่มีพื้นที่อาคารตั้งแต่
300 ตร.ม.ขึ้นไป

10.เรือนจำตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์

11.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ

12.อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตร หรือ 5 ชั้นขึ้นไป

13.สะพานหรือทางยกระดับที่มีช่วงตอม่อยาวตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป รวมถึงอาคารควบคุมการจราจร

14.อุโมงค์ที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง

15.เขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนทดน้ำ หรือฝายทดน้ำ ที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร
ขึ้นไป รวมถึงอาคารบังคับหรือควบคุมน้ำของเขื่อนหรือฝาย

16.อาคารที่ทำการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

17.เครื่องเล่นตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่นที่โครงสร้างมีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป

18.อาคารอยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอาคารที่ก่อสร้างก่อนที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานแรงแผ่นดินไหวที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกมานั้น

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการจัดทำมาตรฐานและคู่มือ เช่น มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มยผ.1301/1302-61 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) และคู่มือการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อให้เจ้าของอาคารสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบหรือเสริมกำลังโครงสร้างอาคารให้มีความแข็งแรงเพียงพอในการต้านทานแผ่นดินไหวได้

ข้อแนะนำสำหรับเจ้าของอาคารเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารควรมีการตรวจสอบสภาพโครงสร้างอาคารเบื้องต้นว่ามีการเสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายหรือไม่ ถ้ามีควรพิจารณาให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารเพื่อจัดทำแผนซ่อมแซมหรือเสริมกำลังโครงสร้างให้มีความปลอดภัยไม่ให้อาคารเกิดพังถล่มเสียหายเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image