รู้จัก “รอยเลื่อนสะกาย” ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา ระยะเวลา 562 ปี เกิดแล้วกว่า 70 เหตุการณ์
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ อยู่ลึกลงไปประมาณ 10 กม. เมื่อเวลา 12.50 น. ของวันที่ 28 มีนาคม เป็นเหตุให้ 12 นาทีต่อมา แรงสะเทือนได้ส่งมาถึงประเทศไทยด้วยนั้น
ข้อมูลจาก เพจกรมทรัพยากรธรณี อธิบายไว้ว่า รอยเลื่อนต้นเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ คือ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) หรือ “ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา” ซึ่งเคลื่อนตัวห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,100 กิโลเมตร รอยเลื่อนสะกาย เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่น่ากังวล สามารถส่งแรงสั่นสะเทือนไปได้ไกล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน เช่น ที่ราบภาคกลางของไทย หรือกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ เพจมิตรเอิร์ธ-mitrearth เคยอธิบายไว้ว่า สะกาย ตั้งอยู่บริเวณผ่ากลาง ประเทศเมียนมา โดยเลื่อนแบบแนวระดับ (strike-slip fault) มีความยาว 1,500 กม. รอยเลื่อนสะกายนี้ยังพาดผ่านถึง 5 เมือง ในเมียนมามากมาย เช่น มิตจีนา มัณฑะเลย์ ตองกี เนปยีดอ ย่างกุ้ง ก่อนหน้านี้ เคยมีแผ่นดินไหวขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 7.0 แมกนิจูด ตั้งแต่ ค.ศ.1429-1991 (562 ปี) ซึ่งนับว่ามีมากกว่า 70 เหตุการณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในอดีตรอยเลื่อนสะกายเคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้ง เช่น ในปี พ.ศ.2455 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลาย และแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงภาคเหนือและกรุงเทพมหานครของไทย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2473 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เมืองพะโค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน หรือในปี 2473 ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 แมกนิจูด ที่เมืองย่างกุ้งด้วย
ทั้งนี้ สำหรับรอยเลื่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ได้แก่
- รอยเลื่อนชาวบาง-เทียนเยน ตั้งอยู่เวียดนาม
- รอยเลื่อนเชียงราย ตั้งอยู่ไทย
- รอยเลื่อนเดียนเบียนฟู ตั้งอยู่เวียดนาม ลาว และไทย
- รอยเลื่อนเกาลิกงชาน ตั้งอยู่จีนตอนใต้
- รอยเลื่อนแสนหวี-นานติง ตั้งอยู่จีนตอนใต้-เมียนมาตะวันออก
- รอยเลื่อนคาวตวง ตั้งอยู่เมียนมาภาคใต้-ไทยตะวันตก
- รอยเลื่อนลำปาง-เถิน ตั้งอยู่ไทยภาคเหนือ
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ มิตรเอิร์ธ-mitrearth