แก้ไข ‘พ.ร.บ.สสส.’ 16 ประเด็น ‘ปรับนิยาม- รายได้เข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 4 พันล้านต่อปี’

กราฟิกมติชน

ตามที่เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายแรงงาน ยื่นหนังสือถึงนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อเรียกร้องขอให้มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณากรณีการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ฉบับที่) พ.ศ… หรือ สสส. ซึ่งก่อนหน้านี้นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.สสส. ในวันที่ 31 มีนาคม และ 3 เมษายน 2560 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่นนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ….ว่า ประเด็นที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 นั้น มีประมาณ 16 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางกระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรม มีการทำและพิจารณามาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการส่งเรื่องมาให้กระทรวงสาธารณสุขทำประชาพิจารณ์ต่อ โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งสิ้น 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 3 เมษายน 2560 นี้ ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำประชาพิจารณ์ ว่าไม่มีการเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกได้มีส่วนนั้น

“ต้องยอมรับว่าไม่สามารถเชิญตัวแทนจากทุกกลุ่มมาร่วมในการทำประชาพิจารณ์ได้ แต่เชื่อว่ารอบด้าน เพราะก่อนที่จะมีการทำประชาพิจารณ์เกิดขึ้น ทางผู้จัดการเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)นั้นก็ได้มีการร่วมกับ สสส.ในเชิญผู้ที่มีส่วนร่วม มาร่วมกันทำประชาพิจารณ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ยังได้มีการดึงกลุ่มบุคคคลที่ถือว่าเป็นกลาง มาร่วมกันทำประชาพิจารณ์ ก่อนจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.สสส.” นพ.มารุต กล่าว

นพ.มารุต กล่าวว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.สสส. มีการแก้ไขทั้งสิ้น 16 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม มีการแก้ไขและหารือกันไว้บ้างแล้ว การเข้ามามีส่วนร่วมของกระทรวงสาธารณสุขจึงถือว่าเป็นรูปแบบของการผนึกกำลังร่วมกันของ 3 กระทรวง แต่โดยหลักการแล้วจะเป็นกระทรวงยุติธรรมที่เป็นคนนำไปดำเนินการ หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์ครบทั้ง 2 รอบแล้ว ก็คาดว่าจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อเสนอที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ร่วมกันทั้งหมดมาปรับอีกประมาณ1-2 เดือน หลังจากนั้นก็คาดว่าจะสามารถรวบรวมข้อเสนอต่างๆส่งให้นพ.ปิยะสกล เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ร่างพ.ร.บ.สสส.ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.สสส. พ.ศ.2544 นั้น มีทั้งหมด 16 ประเด็น อาทิ 1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า ‘สร้างเสริมสุขภาพ’ โดยให้หมายความว่า การใดๆที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาวคุณภาพชีวิตที่ดี และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน

2.แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการจำกัดวงเงินกองทุน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการปรับเพิ่มหรือปรับลดรายได้สูงสุด โดยระบุว่า ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุรา และกฎ๒หมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุรา และยาสูบ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติขอครม.มีอำนาจในการปรับเพิ่มหรือลดรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image