ก.อุต ระดมหน่วยงาน ตรวจเหล็ก จากซากตึกสตง.ถล่ม รู้ผลวันนี้ ชี้ส่วนใหญ่เป็นเหล็กจากจีน
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย นายกิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการวิศวกรรมโยธา และ ประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างเหล็ก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
นายเติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) นายอกรัตน์ ไวยนิตย์ นักวิจัยอาวุโส ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ นายณัฐพล สุทธิธรรม อนุกรรมการสาขาโครงสร้างเหล็กวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้นำตัวอย่างเหล็กเส้น ที่เก็บจากตึก สตง.ถล่ม เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จากเหตุแผ่นดินไหวมาตรวจสอบคุณภาพ ที่สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยมาให้สถาบันเหล็กฯ ดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นไปตามคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่
สำหรับเหล็กเส้นที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ และนำมาตรวจสอบคุณภาพมีจำนวน 28 เส้น มีทั้งหมด 7 ประเภท ประกอบด้วย เหล็กข้ออ้อย ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น เหล็กเส้นกลม ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น จาก 3 บริษัท คือ SKY (บริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (บริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS ( เครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย)
“ขณะนี้เรายังไม่สามารถปรักปรำทั้ง 3 บริษัทได้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยืนยันอีกครั้งว่า ผลของเหล็กนั้นเป็นบวกหรือลบ”น.ส.ฐิติภัสร์กล่าว
ทั้งนี้ขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเจ้าหน้าที่จะนำเหล็กทุกท่อน ที่เก็บมาจากจุดเกิดเหตุ มาตัดเป็นท่อนขนาด 1 เซนติเมตร จากนั้นนำไปตีแบน ก่อนจะนำไปวิเคราะห์หาค่าองค์ประกอบทางเคมีในเหล็กส่วนที่สอง เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาว และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำมาคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่า เป็นไปตามมาตรฐานมอก.หรือไม่ โดยผลการตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บมาจากตึกสตง.ทั้งหมด คาดว่าจะใช้เวลาตรวจประมาณให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้(31 มีนาคม 2568) หลังจากนั้นจะแจ้งให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
หากตรวจพบว่า เหล็กที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานตามมอก. จะมีการตรวจสอบไปถึงผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า และดำเนินการให้ถึงที่สุดต่อไป แต่ถ้าผลการตรวจสอบออกมาพบว่า ถูกต้องตามมาตรฐานมอก.ก็ต้องแจ้งให้ทุกคนทราบ เพื่อความเป็นธรรมของผู้ประกอบการ