ดีเอสไอรับตึกสตง.ถล่มเป็นคดีพิเศษ พบ ฐานานุรูปบริษัทไทยร่วมค้าไม่น่าเชื่อถือ ถูกต่างด้าวครอบงำ

ดีเอสไอรับคดีตึกสตง.ถล่มเป็นคดีพิเศษ พบ ฐานานุรูปบริษัทไทยร่วมค้าไม่น่าเชื่อถือ เตรียมเรียกสอบปากคำฐานะนอมินี

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 เมษายน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยกรณีรับอาคาร สตง. ถล่ม เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 ว่า การตรวจสอบพบพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง ความผิดทางอาญาที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ว่ามีสินทรัพย์ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอยู่ในอำนาจของอธิบดีดีเอสไอ ที่จะรับเป็นคดีพิเศษได้

2. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ว่าวัสดุต่างๆ ตรงสเปคหรือไม่ ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายคดีพิเศษ โดยมีเกณฑ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และคาดว่าเกินกำหนด และ 3. ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่าถ้าวงเงินเสนอราคาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ในเงื่อนไขรับเป็นคดีพิเศษ และไม่ต้องใช้มติ กคพ. โดยรับคดีความผิดนอมินี เป็นคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนไปก่อน ส่วนความผิดอื่นๆ สามารถสอบสวนได้ตามหลัง

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า สำหรับคดีพิเศษเลขที่ 32/2568 โดยมี ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อม พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และคณะทำงาน รวม 35 ราย ซึ่งจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) เป็นครั้งแรก

ADVERTISMENT

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า สำหรับการรับคดีนอมินีเป็นคดีพิเศษ ในชั้นนี้พบว่ามีมูลเพราะธุรกิจการก่อสร้าง ส่วนใหญ่นิติบุคคลก็จะอนุญาตให้จดทะเบียนคนต่างด้าวไม่เกินร้อยละ 49 และคนไทยร้อยละ 51 ก็ต้องพิสูจน์ว่าคนไทยเป็นนอมินีหรือถือหุ้นแทนหรือไม่ เบื้องต้นพบว่า คนไทยสถานภาพไม่สอดคล้องกับการจะมาถือหุ้นในธุรกิจบริษัทใหญ่ได้ ยังมีหลักฐานการลงนามเอกสารเซ็นสัญญากิจการร่วมค้าต่างๆ คนต่างด้าวดูมีอำนาจครอบงำกิจการ 

ADVERTISMENT

โดยพบว่าคนไทยกลุ่มนี้ยังถือหุ้นกับบริษัทอื่นไม่ต่ำกว่า 3 บริษัทในเครือจากทั้งหมด 13 บริษัท โดยจะต้องตรวจสอบเส้นทางการจดทะเบียน ประกอบธุรกิจ กรรมการผู้ถือหุ้น และตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทที่ได้งานประมูลโครงการภาครัฐและอื่นๆ ว่าเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการสืบสวนเบื้องต้นแล้วพร้อมประสานข้อมูลร่วมกัน”พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความผิด ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมจะเน้นตรวจสอบเรื่อง “เหล็ก” เป็นหลัก โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีการพิสูจน์เบื้องต้นพบเหล็กบางยี่ห้อไม่ตรงสเปก ส่วนรายละเอียดอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานก่อน นอกจากนี้ ส่วนคดีฮั้วประมูลนั้นมีความผิดหลายลักษณะ แต่หลักเกณฑ์ คือ การแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งมันจะต้องสืบสวนข้อเท็จจริงจากคดีนอมินีก่อน

สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวน สน. บางซื่อ มีการรวบรวมพยานหลักฐาน แฟ้มที่ชาวจีนลักลอบขนออกจากไซต์งานหลังวันเกิดเหตุ จำนวน 37 แฟ้ม โดยเงื่อนไขต้องไปตรวจสอบดูก่อนว่า พนักงานสอบสวนของตำรวจมีการรับเป็นสำนวนแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้รับเป็นสำนวน ก็สามารถดำเนินการเอาเอกสารดังกล่าวมาสอบสวนเองได้ แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนรับแล้ว ก็สามารถให้ตำรวจเข้ามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษร่วมด้วย

นอกจากนี้รายละเอียดเกี่ยวกับวิศวกรก่อสร้าง ที่ใช้วีซ่านักศึกษาแต่กลับเข้ามาประกอบอาชีพวิศวกร จะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด ส่วนกรณีเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำได้ ดีเอสไอ กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและประสานกรมสรรพกร เพื่อเอาเอกสาร ก่อนจะกำหนดไทม์ไลน์จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ปากคำต่อไป

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การสืบสวนขยายผลเรื่องอาคารตึกถล่ม ไม่ได้กังวล แม้มีกระแสข่าวว่าบริษัทที่ก่อสร้างอาคาร สตง. มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนจะเป็นอุปสรรคในการสืบสวนหรือไม่ ยืนยันว่าจะดำเนินการตามข้อเท็จจริงทั้งหมด หากผิดก็จะดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่มีข้อละเว้น ส่วนกรณีที่บริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐ ก็ย้ำว่าไม่เป็นอุปสรรค เพราะดีเอสไอมีหน้าที่พิสูจน์ความจริงให้ปรากฎ ส่วนการที่อาคารถล่มในครั้งนี้ ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุภัยพิบัติ หรือ ข้อผิดพลาดจากการก่อสร้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามีความผิดปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image