ปรับยอดแรงงานในตึก สตง.ถล่มเป็น 103 คน สูญหาย 81 เผยล่าสุดไม่พบการตอบรับแล้ว

กทม.อัพเดตยอดแรงงาน วันเกิดเหตุตึกถล่ม หลังเทียบข้อมูลจาก สตม. เพิ่มเป็น 103 คน พร้อมขั้นตอนเยียวยา

เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 3 เมษายน ที่บริเวณกองอำนวยการร่วม สน.บางซื่อ ห้างสรรพสินค้า JJ mall รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รอง ผกก.ป.สน.บางซื่อ ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว

นายสุริยชัยกล่าวว่า การช่วยผู้ติดค้างเน้นไปที่โซน B และ C ที่พบจุดต้องสงสัยและคาดว่ามีผู้ติดค้างอยู่ภายในโครงสร้างอาคาร โดยโซน B เป็นบริเวณใกล้ช่องบันไดหนีไฟที่พบสัญญาณต้องสงสัยว่าจะมีผู้ติดค้างร้องขอความช่วยเหลืออยู่ใต้ซาก ซึ่งทับถมกันลึกลงไปประมาณ 3 เมตร ขณะนี้ดำเนินการไปได้ 2 เมตรกว่า จากการสแกนน่าจะใกล้ถึงตัวผู้ติดตามที่อยู่ด้านใน ส่วนการตอบรับจากผู้ที่ติดค้างอยู่ปัจจุบันไม่ได้รับการตอบรับเหมือนเมื่อคืนและช่วงเมื่อเช้าที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

ส่วนในโซน C ใกล้เคียงโซน D ซึ่งเป็นบริเวณช่องลิฟต์และเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้างที่พังถล่มลงมา และคาดว่ามีผู้ติดค้างอยู่ภายใน โดยเป็นจุดที่สุนัข K9 มีปฏิกิริยาที่ต้องสงสัยว่าพบผู้ติดค้าง ตลอดทั้งวันได้ระดมกำลังค้นหา สุนัข K9 และเจ้าหน้าที่นานาชาติเข้าไปค้นหา ปัจจุบันได้เจาะและเคลื่อนย้ายซากอาคารและขุดเจาะเข้าไปถึงผนังช่องลิฟต์แล้ว และกำลังจะดำเนินการเจาะผนังช่องลิฟต์เข้าไปถึงโพรงด้านในที่ยังคงมีความหวังอยู่ว่าจะพบผู้ติดค้างอยู่บริเวณนี้ ส่วนปัญหาและอุปสรรคคือพื้นคอนกรีตที่กดทับลงมาหลายชั้นมีความหนา ยากที่จะขุดเจาะช่องให้คนเข้าไปได้ ซึ่งต้องกว้างพอสมควร

ด้าน รศ.ทวิดากล่าวว่า มีการเปลี่ยนแปลงยอดผู้ติดค้างภายใน เนื่องจากได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ตรวจสอบเพิ่มเติมแล้ว พบว่ายอดผู้ประสบเหตุ (แรงงาน) เปลี่ยนแปลงเป็น 103 คน ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บมีอยู่ 7 คน ที่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล มีพนักงานในเขตก่อสร้างมารายงานตัว 1 คน ยอดผู้เสียชีวิตยังคงเดิมอยู่ที่ 15 คน ส่วน 12 คน มีรายชื่อเป็นผู้รับบาดเจ็บ จากการตรวจสอบแล้วเป็นประชาชนทั่วไป ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าไม่มีประชาชนเสียชีวิต ซึ่งหากบวกลบแล้วขณะนี้ยังมีผู้สูญหาย 81 คน ไม่นับรวมยอดผู้ได้รับบาดเจ็บ 12 คน ที่เป็นประชาชนทั่วไป

ADVERTISMENT

จากการรายงานผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy fondue) มีประชาชนรายงานและส่งหลักฐานเข้ามาให้ตรวจสภาพอาคารจำนวน 17,112 เคส สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ (สีเขียว) 13,570 เคส ยังอยู่อาศัยได้ แต่ต้องตรวจซ้ำอีกครั้ง (สีเหลือง) 387 เคส อยู่อาศัยไม่ได้ (สีแดง) 2 เคส

ส่วนการเยียวยาและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีการขอที่พักอาศัยผ่าน Airbnb ได้เปิดศูนย์พักพิงและศูนย์พักคอยญาติ 3 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีรายการที่ ปภ.และ กทม.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

  • ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายเท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน 49,500 บาท
  • ค่าที่พักอาศัยชั่วคราว หรือค่าเช่าบ้านจ่ายเฉพาะอาคารที่ กทม.ประกาศระงับการใช้และไม่ได้เข้าไปอยู่ในส่วนพักพิงที่ กทม.จัดสรรเป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท
  • ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท
  • ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ กรณีบาดเจ็บสาหัสช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท กรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท
  • เงินปลอบขวัญกรณีรับบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท
  • เงินทุนประกอบอาชีพครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

ทั้งนี้เป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยที่ดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยรายงานไปยัง ทสกภ.กทม. เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือมายัง ปภ.ต่อไป

ส่วนขั้นตอนการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีการเกิดแผ่นดินไหว สามารถดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับความช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์สำนักงานเขต หรือเว็บไซต์ของ กทม. ผู้ร้องต้องยื่นเอกสารคำร้องและหลักฐานที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขตพร้อมให้ข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐานประกอบด้วยแบบสอบข้อเท็จจริงผู้ประสบภัย, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทยใช้สำเนาพาสปอร์ต, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาโฉนดที่ดิน, สำเนาใบ อช.2 (โฉนดคอนโด), สำเนาบันทึกประจำวัน, หนังสือรับรองผู้ประสบภัยและบัญชีความเสียหายแนบท้ายฯ, บันทึก (ป.ค.14) ใช้ในกรณีที่เอกสารที่ยื่นยังไม่ชัดเจน, เอกสารประกอบการขอรับความช่วยเหลือค่าวัสดุซ่อมแซมที่พักอาศัยฯ และรูปภาพความเสียหาย

ด้าน พ.ต.ท.วรภัทรกล่าวว่า ทาง ผบ.ตร.และ ผบช.น.ได้ประชุมหารือสั่งการให้ สน.บางซื่อ อำนวยความสะดวกกับญาติผู้ประสบภัยให้ไปเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอได้ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อพบบุคคลที่ค้นหาแล้วจะได้ทำการพิสูจน์ทราบว่าตรงกันหรือไม่ เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้อย่างรวดเร็ว ยืนยันไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการร่วมมีอยู่ 2 แห่ง คือบริเวณจุดเกิดเหตุ และศูนย์อำนวยการที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ

สำหรับสถานการณ์จากศูนย์เอราวัณกรณีเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 35 ราย แบ่งเป็น นอนโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้าน 24 ราย มีผู้เสียชีวิต 22 ราย โดยเสียชีวิตที่เกิดเหตุ 19 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image