ชมสดนับแสน! ยันข้อเสนอเศียรใหญ่พช.พระนคร คือพระศรีสรรเพชญ์ น้อมรับคำวิจารณ์ หวังปวศ.ก้าวหน้า

แห่ชมสดนับแสน! รุ่งโรจน์ยันข้อเสนอเศียรใหญ่พช.พระนคร คือพระศรีสรรเพชญ์ น้อมรับคำวิจารณ์ หวังปวศ.ก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ผู้เรียบเรียงหนังสือ “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทองตอนกรุงแตก” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งกำลังเป็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ได้เดินทางไปยังวัดพระศรีสรรเพชญ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” ร่วมด้วยนายปติสร เพ็ญสุต นักวิชาการอิสระ

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ตามที่ตนได้นำเสนอข้อมูลในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า ว่าเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร. คือเศียรของพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปสำคัญสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยมีความเข้าใจกันมาแต่เดิมว่าถูกพม่าเผาลอกทองไปนั้น. วันนี้ตนได้เดินทางมาที่วิหารหลวงอีกครั้ง หลังจากเคยมาศึกษาแล้วหลายสิบครั้ง ขอยืนยันตามข้อเสนอในหนังสือที่เพิ่งตีพิมพ์ เนื่องจากขนาดของพระเศียรเมื่อคำนวนความสูงของพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระยืน มีความสอดคล้องกับความสูงของวิหารหลวง. อีกทั้งผนังวิหารไม่มีร่องรอยถูกเผาด้วยไฟอุณหภูมิสูง ไม่เช่นนั้น จะต้องมีลักษณะเหมือนผนังเตาเผาภาชนะที่มีความเงาเยิ้มติดกัน เพราะมีแร่ซิลิกาออกมา แต่วันนี้มาดูอีกครั้งก็ไม่มี. จึงเชื่อว่า พระพุทธรูปดังกล่าวไม่ได้ถูกเผาเพื่อหลอมเอาทองไปตามที่เคยเชื่อกันโดยพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งชำระในสมัยหลังจากกรุงแตกเป็นเวลานาน คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ล่วงมาแล้ว นอกจากนี้. รูปแบบศิลปะก็สอดคล้องกันอีกทั้งสถานที่พบพระเศียรตามทะเบียนโบราณวัตถุก็ระบุว่าพบที่วิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์อีกด้วย สำหรับที่มีผู้ตั้งคำถามว่า การที่รัชกาลที่ 1 อัญเชิญชิ้นส่วนพระวรกายของพระศรีสรรเพชญ์มายังกรุงเทพมหานคร แล้วประดิษฐานในฐานเจดีย์พระศรีสรรเพชรดาญาณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) นั้น หากเศียรที่ตนเสนอคือเศียรพระศรีสรรเพชญ์จริง เหตุใดจึงไม่อัญเชิญไปไว้ในฐานเจดีย์ดังกล่าวด้วยนั้น ตนเชื่อว่า รัชกาลที่ 1 อาจไม่ได้ทรงพบพระเศียร เพราะเป็นไปได้ว่าจมดินอยู่ท้ายวิหาร คล้ายกับที่วัดชินวราราม จังหวัดปทุมธานี หรือถูกฝังด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง

“ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีเพียงวิหารหลวงเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีขนาดและความสูงมากพอที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เต็มพระวรกายของพระเศียรที่ตัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร. วิหารพระโลกนาถ และศาลารายอื่นๆ คัดไปได้เลย เพราะความสูงไม่พอ. นอกจากนี้ พระเศียรดังกล่าวซึ่งทะเบียนระบุชัดเจนว่าพบที่วิหารหลวงก็ยังมีอุณาโลมบนพระนลาฏ (หน้าผาก) ซึ่งแสดงว่าเป็นพระพุทธรูปสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่พระพุทธรูปทุกองค์จะมี สำหรับรูปแบบศิลปะก็สอดคล้องกันคือเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังนั้นจึงได้เสนอแนวคิดนี้เมื่อปี 2559 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และตีพิมพ์บทความในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จากนั้นจึงได้รับโอกาสในการพิมพ์เป็นเล่มเพื่อเผยแพร่จากคำแนะนำของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ” นายรุ่งโรจน์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม. ผู้ที่มีแนวคิดคัดค้านกับข้อเสนอของตน ตนยินดีรับฟัง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ทางวิชาการ.

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้สนใจชมถ่ายทอดสดเป็นจำนวนมากถึง 140,000 คน และเชื่อว่าจะมีผู้ชมย้อนหลังอีกจำนวนมาก

คลิกชมที่นี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image